ประธานส.อ.ท.มองปี2561 เครื่องยนต์3ตัวแรงส่งขับเคลื่อนหลัก

25 ธ.ค. 2560 | 04:18 น.
ปี2561หลายสำนักคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรวมจะขับเคลื่อนไปด้วยดีเพราะมีแรงส่งที่ดีจากปี 2560 โดยเฉพาะการส่งออก จากต้นปีที่คิดว่าจะเติบโต 2-3% พอมาท้ายปีต้องขยับเป้าขึ้นไปเป็น 6-7%ดูแนวโน้มน่าจะทะลุ 7% นอกจากการส่งออกแล้วยังมีแรงส่งอะไรอีกและทิศทางปี 2561 ภาคเอกชนมองว่าอะไรคือโอกาสในการทำธุรกิจและอะไรคือความเสี่ยง "นายเจน นำชัยศิริ" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ตัวแทนภาคเอกชน ฉายภาพให้เห็นความเคลื่อนไหวเหล่านี้

ประธานส.อ.ท. กล่าวถึงปี 2560 ว่าแม้ประสบปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปบางตลาดเช่นตลาดตะวันออกกลางแต่ปรากฏว่าเราได้ตลาดภายในประเทศมาช่วยไว้ เพราะปีนี้เป็นปีที่ครบกำหนด 5 ปีของนโยบายรถคันแรก ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนรถใหม่ ค่ายรถต่างๆออกรถรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันตลาดส่งออกแม้จะยังไม่เป็นบวกมากนัก ช่วงปลายปีก็เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นแล้ว

ส่วนเรื่องการลงทุนที่ติดลบมาหลายปีก็มองเห็นแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น ดังนั้นเรายังมองว่าในทุกๆเครื่องยนต์เริ่มทำงานได้ ไม่มีเครื่องยนต์ที่ดับอยู่ เราก็ไม่ต้องไปกังวลว่า เครื่องที่เหลือจะไปลากเครื่องที่ดับอยู่

[caption id="attachment_244398" align="aligncenter" width="503"] เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)[/caption]

++โอกาสในการทำธุรกิจปี2561
สำหรับปัจจัยเกื้อหนุนในการทำธุรกิจปี 2561ประธานส.อ.ท.มองว่า ส่วนหนึ่งจะมาจากแรงส่งของปี 2560 โดยเฉพาะปัจจัยจากจีดีพีที่เติบโตสูงขึ้นในปี 2560 โดยเฉพาะการส่งออกที่ออกมาโดดเด่นมาก แม้กระทั่งเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่าตลอดทั้งปี เราก็ยังสามารถส่งออกได้ ตรงนี้ต้องถือว่าเป็นจุดแข็งที่เราผ่านพ้นปี 2560โดยมีตัวเลขเป็นบวกได้ดีเมื่อเทียบกับปี 2559ซึ่งแรงส่งตรงนี้จะส่งไปถึงปี2561ฉะนั้นเรื่องของการส่งออกเราน่าจะวางใจได้ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวก็ไปได้ดี ซึ่งในปี 2561 เราก็มองเห็นว่าการท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้นอีก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน

รวมถึงการลงทุนจากภาคเอกชนก็เริ่มเป็นบวกติดต่อกันมาหลายเดือนถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่นักลงทุนเริ่มใช้กำลังผลิตเต็มที่แล้วก็ต้องมีการขยายกำลังผลิต หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือพัฒนาสินค้าใหม่ๆออกมา ตรงนี้ส่วนหนึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกด้วย เหล่านี้คือเราได้อานิสงส์มาจากปัจจัยภายใน

ส่วนอานิสงส์จากปัจจัยภายนอกก็มี ดูจากที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมดีขึ้นถือเป็นอีกตัวช่วยที่เป็นแรงส่งไปถึงปี 2561 เนื่องจากกำลังซื้อจากตลาดต่างประเทศดีกว่ากำลังซื้อจากตลาดภายในประเทศซึ่งเราจะเห็นชัดเจนจากที่ทำการสำรวจผู้ประกอบการที่เน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลักที่มีความเชื่อมั่นมากกว่าผู้ประกอบการที่เน้นตลาดภายในประเทศ ดังนั้นเราก็อนุมานได้ว่ากำลังซื้อจากตลาดต่างประเทศดีกว่าแน่นอน ขณะเดียวกันพอผู้ประกอบการเริ่มส่งออกไปต่างประเทศ เราก็เริ่มเห็นว่าสินค้าไทยเป็นที่ต้องการและได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าต่างประเทศ ก็น่าจะดีใจว่าสินค้าไทยน่าจะส่งออกไปได้มากกว่านี้

++ตลาดส่งออกความหวังของไทย
อีกทั้งการที่ภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และจีนดีขึ้น ถือเป็นแม่เหล็กในการส่งออกด้วยเพราะในแต่ละประเทศนั้น ไทยจะส่งออกไปในสัดส่วนประเทศละ 9-10% ซึ่งเดิมทีเราก็กังวลเศรษฐกิจจีนเพราะจีนต้องการชะลอเศรษฐกิจไม่อยากให้ร้อนแรงเกินไปเกรงว่าจะเกิดฟองสบู่ได้ ก็ปรากฏว่าจีนควบคุมได้ค่อนข้างดีแม้อัตราเติบโตของจีดีพีลดลงมาเล็กน้อยจาก 7% เหลือ 6.2% ซึ่งก็ยังเป็นตัวเลขที่เหมาะสมเพราะเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่มาก

ดังนั้น 3-4 ประเทศเหล่านี้ ถือว่าเป็นตลาดที่เป็นความหวังของไทยในแง่การส่งออก สำหรับตลาดที่มีการหดตัวลงไปมากๆในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นคือตลาดตะวันออกกลาง เพราะราคานํ้ามันลดลงทำให้ความต้องการใช้สินค้าบางรายการลดลง โดยเฉพาะตลาดรถกระบะ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการค้าขายลดลงแม้การส่งออกรถยนต์จะลดลงแต่การส่งออกโดยรวมของเรายังเพิ่มขึ้นอยู่แสดงว่าสินค้าตัวอื่นยังไปได้ดีและในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2560 จะเห็นว่ากลุ่มยานยนต์มีการปรับเพิ่มประมาณการใหม่ 2-3 ครั้ง ก็แสดงว่ามีความมั่นใจต่อตลาด โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางที่เริ่มจะฟื้นตัวได้ดังนั้นปี 2561ถ้าตลาดตะวันออกกลางฟื้นตัวได้ดี ก็จะทำให้ส่งออกของไทยไม่มีปัญหา

“ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 ว่า ถ้าประเมินจากสายตาแล้วคาดว่า จีดีพีของไทยน่าจะเติบโต 3.5 4.5% ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ก็ประเมินไว้แล้วในระดับนี้ หรือมีโอกาสที่จีดีพีจะทะลุ 4% เมื่อรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเข้ามา ขนส่งระบบรางรางคู่ มอเตอร์เวย์ เหล่านี้จะเกิดการกระตุ้นและเกิดการจ้างงานในประเทศ ก็จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้น ส่วนการลงทุนน่าจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ในปี 2561เพราะเรื่องพีพีพีก็ได้รับการแก้ไขให้สะดวกขึ้น”

วิทยุพลังงาน-17-503x73 ++ยังมีข้อกังวลจากปัจจัยเสี่ยง
สำหรับปัจจัยเสี่ยง ที่เข้ามาในปี 2561 ถ้าดูจากปัจจัยภายในจะสะท้อนจากการที่เราทำดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนตุลาคม 2560 พบว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นคือ เรื่องการเมืองภายในประเทศ เพราะเข้าใกล้โรดแมปของรัฐบาลและใกล้สิ้นสุดวาระของรัฐบาลปัจจุบันก็เลยมองในเรื่องยุทธศาสตร์นโยบายมาตรการต่างๆ และโครงการต่างๆที่รัฐบาลนี้วางไว้ว่าจะทำต่อเนื่องหรือไม่เหล่านี้คือข้อกังวล

ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ก็มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจาก Brexit หรือนโยบายของนายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯและความตึงเครียดในหลายๆภูมิภาคเช่นทะเลจีนใต้คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงตะวันออกกลางก็ยังไม่เรียบร้อย ยุโรปก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวของการจะแยกตัวออกมาเป็นอิสระรวมถึงประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศสที่อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องจับตามอง

สำหรับการผันผวนของค่าเงินก็ยังเป็นความเสี่ยงและยังเป็นเรื่องที่พูดยากเพราะต้องขึ้นอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯเราก็ยังต้องติดตามนโยบายต่างๆของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าส่งผลถึงความเคลื่อนไหวและการแข็งตัวและอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯพอสมควรฉะนั้นตราบเท่าที่นโยบายของทรัมป์ยังมีผลที่ทำให้เกิดความผันผวน เราก็ต้องอยู่กับความไม่แน่นอนตรงนี้ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,325 วันที่ 24 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9