ร้อยเรื่องเล่า ผ่านเรื่องราว “นิทรรศการแห่งความทรงจำ”

24 ธ.ค. 2560 | 09:12 น.
[caption id="attachment_244303" align="aligncenter" width="503"] MP25-3325-4A นิทรรศการพระราชาในดวงใจ[/caption]

หากกงล้อเคลื่อนกาลเวลาหมุนย้อนกลับไปในช่วงเวลานี้ของปีก่อน วันที่ 26 ธันวาคม 2559 คือวันที่หมุดตัวแรกได้ปักลงบนท้องสนามหลวง สัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นการก่อสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการย้อนระลึกถึงความทรงจำครั้งยิ่งใหญ่ของชาวไทยทั้งประเทศและทั่วโลกในสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นศักราช สุขสัปดาห์ขอพาผู้อ่านหวนนึกถึงช่วงเวลาที่พวกเราได้ผ่านร่วมกันมาผ่านความทรงจำของ คุณปุ๊ก – ณัฏฐนันท์ อุษณีย์มาศ ผู้หญิงคนหนึ่งที่มุ่งมั่นเก็บความทรงจำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ที่ทุกฝ่ายร่วมกันใช้กำลังสมอง กำลังสติปัญญา ที่มาพร้อมหัวใจที่จงรักและภักดี น้อมถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่า 150 นิทรรศการ และในบางนิทรรศการคุณปุ๊กได้เดินทางไปเยี่ยมชมมากกว่า 1-2 หน เพื่อเก็บทุกรายละเอียดและเรื่องราวที่ผู้จัดนิทรรศการแต่ละท่านตั้งใจถ่ายทอดถึงผู้ชมนิทรรศการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ภาระหน้าที่ในฐานะผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซูพรีโม จำกัด บริษัทจัดการด้านการตลาดให้กับศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ จะทำให้ตารางชีวิตแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ แต่ด้วยความทรงจำที่แสนพิเศษในฐานะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 การเดินทางมาร่วมกิจกรรมน้อมฯ ถวายอาลัยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้าชมนิทรรศการ “จุฬาฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 28 ตุลาคม 2559 นิทรรศการแรกๆ ที่รวมภาพบันทึกแห่งความทรงจำ ความผูกพันของชาวจุฬาฯ กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่พระองค์ยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตลอดจนพระบรมราโชวาทที่พระองค์ทรงมอบแก่ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปี 2493 รวมกว่า 48 ปี ที่พระหัตถ์ของพระองค์เชื่อมโยงหัวใจของบัณฑิตทุกคนผ่านปริญญาบัตร เครื่องยืนยันความสำเร็จเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาประเทศต่อไป หลังจากนั้นเป็นต้นมา การเดินทางไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดจนความรู้สึกรำลึกถึงพระองค์ทำให้คุณปุ๊ก เริ่มต้นกำหนดตารางชีวิตอย่างจริงจัง ในทุกๆ สัปดาห์สิ่งที่เธอมุ่งมั่นคือการเดินทางไปชมนิทรรศการ ไม่เฉพาะเพื่อเป็นความทรงจำส่วนตัว แต่เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเพื่อนผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับเรื่องราวดีๆ ที่ควรค่าแก่การสัมผัสและมาเยือนด้วยสายตาและหัวใจของตนเอง

[caption id="attachment_244301" align="aligncenter" width="503"] นิทรรศการนบพระภูมิบาลสู่แดนสรวง นิทรรศการนบพระภูมิบาลสู่แดนสรวง[/caption]

“ความรักและความจงรักภักดีทำให้ศิลปินและผู้จัดงานต่างรังสรรค์นิทรรศการผ่านความตั้งใจมุ่งมั่นให้เป็นงานที่ดีที่สุด ชื่อของแต่ละนิทรรศการที่ได้รับการตั้งขึ้นมีทั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะ “พระมหากษัตริย์” ของแผ่นดินไทย และเรียบง่ายที่สุดในฐานะ “พ่อของแผ่นดิน” แต่ทุกนิทรรศการต่างสื่อสารร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวคือความผูกพันของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อประชาชน จนเกิดเป็นพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรทั้งประเทศ

เพราะนิทรรศการคือการจัดงานซึ่งความจงรักภักดีของประชาชนได้ถูกนำมาแสดงออกอย่างเหมาะสม ขับดันทุกความรู้สึกและความสามารถสื่อสารผ่านชิ้นงานและเชื่อมโยงของความทรงจำร่วมกันจึงปรากฏเป็นงานนิทรรศการต่างๆ ทั่วประเทศนับตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะก้าวสู่ศักราชใหม่ในอีกไม่ช้า

ในวันที่ 5 ธันวาคม 2559 วันพ่อแห่งชาติครั้งแรกที่ไม่มีพ่อของแผ่นดิน ครั้งนั้นความทรงจำเกี่ยวกับในหลวงตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และทรงเจริญพระชันษาในอาณาบริเวณของวังสระปทุม ได้รับการสร้างสรรค์เป็นนิทรรศการ “บรมกษัตริยาธิราช” ร้อยเรียงเรื่องราวจากเจ้าชายพระองค์น้อยสู่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ นิทรรศการที่คนไทยได้มีโอกาสเห็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อย่างใกล้ชิด ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ก่อนจะได้รับการจัดแสดงต่อเนื่องอีกครั้ง ณ วังสระปทุม

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ประชาชนชาวไทยคุ้นชินได้รับการถ่ายทอดผ่านเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของชาวไทยในหลายรูปแบบ คุณปุ๊กเล่าถึงนิทรรศการ “9 ห้อง 9 ความประทับใจ” ซึ่งเนรมิตลานกว้างของศูนย์การค้าเมกา บางนา เป็นห้องต่างๆ แต่ความงดงามและประทับใจที่สุดคือเมื่อมองในมุมสูง จะปรากฏเป็นโครงภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพใหญ่ สะท้อนกลับมาอย่างงดงาม การรังสรรค์นิทรรศการไม่ได้มีเฉพาะเพียงผลงานจากศิลปินชื่อดังที่นำชิ้นงานซึ่งเคยสร้างรวมถึงสร้างขึ้นใหม่มาจัดแสดงร่วมกัน แต่ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ตรมในปีที่ผ่านมาเกิดเป็นพลังสำคัญให้เหล่าศิลปินหน้าใหม่นำเสนอผลงานศิลปะหลากรูปแบบ สะท้อนความคิดถ่ายทอดร่วมกันในนิทรรศการ “ความสุขของคนไทยใต้ร่มพระบารมี 70 ปี แห่งการครองราชย์” ยืนยันถึงความทรงจำของ “ภาพที่มีทุกบ้าน” ให้เราได้สัมผัสและยังนึกถึงภาพบรรยากาศที่คุ้นเคย ความอุ่นใจทุกครั้งที่ได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์บนปฏิทินแขวนอันใหญ่ซึ่งเมี่อ วัน เดือน ปี หมุนเวียนเปลี่ยนไป แต่ภาพนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมมิเสื่อมคลาย

[caption id="attachment_244300" align="aligncenter" width="503"] ณัฏฐนันท์ อุษณีย์มาศ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซูพรีโม จำกัด ณัฏฐนันท์ อุษณีย์มาศ
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท ซูพรีโม จำกัด[/caption]

“ยายเดินทางมาที่นี่ไม่ได้เพื่อต้องการเห็นในหลวง แต่ต้องการให้ในหลวงเห็นเรา”

คำพูดของคุณยายท่านหนึ่งดังก้องอยู่ในสมองเมื่อได้เห็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เป็นภาพของประชาชนชาวไทยในเสื้อสีเหลืองกำลังโบกธงไปมาในนิทรรศการ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ” ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ปะทะกับประสบการณ์การได้เดินทางไปชมนิทรรศการ “นบพระภูมิบาลสู่แดนสรวง” ณ โรงพยาบาลศิริราช ย้อนให้ระลึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่ยังคงมีพระองค์เป็นหลักนำหัวใจ แต่ก่อนที่เคยเปลี่ยนช่องเมื่อรายการทีวีถึงเวลาออกอากาศข่าวในพระราชสำนัก หรือการเดินทางมารอเฝ้าฯ รับเสด็จตามแนวถนนราชดำเนินในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ก็ผัดผ่อนไปบ้างเพราะกลัวจะไม่เห็นพระองค์ท่าน รอรับชมทางโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน แต่บัดนี้ไม่มีอีกแล้ว เมื่อวันคืนไม่อาจย้อนมาการเปิดเรื่องราวย้อนกลับไปดูก็ไม่อาจเท่ากับการได้เปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ร่วมกับประชาชนอีกนับหมื่นนับแสนคนพร้อมๆ กัน

สิ่งที่เห็นในทุกนิทรรศการทำให้เราได้ตระหนักและรับรู้ว่าตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์พระองค์ท่านไม่เคยเลยที่จะทรงละทิ้งคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ทำให้ได้เรียนรู้ว่าพระองค์ท่านทรงเพียรพยายามสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับคนไทยมากเพียงใด การชมนิทรรศการจึงเป็นช่วงเวลา ณ ขณะหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ความหมายที่แฝงอยู่ในทุกคำสอนของพระองค์ การเริ่มต้นทำความดีด้วยตนเองจาก 1 อาจเพิ่มเป็น 10 เป็น 100 รวมกันเป็นล้านๆ คน จะร่วมสร้างสังคมให้น่าอยู่สมกับเป็นแผ่นดินไทยที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อคนไทยอย่างหนักมาตลอด 70 ปี

MP25-3325-5A ช่วงเวลานี้ยังมีอีกหลายนิทรรศการเปิดให้ประชาชนเข้าชม ระหว่างหยุดยาวในช่วงปีใหม่ ลองแบ่งเวลาสักหนึ่งหรือสองชั่วโมงไปเยี่ยมชมนิทรรศการที่ผ่านการสร้างขึ้นอย่างดีที่สุดนี้ก่อนที่ความทรงจำของห้วงเวลาจะค่อยๆ เลือนหายไป

เรื่อง: บุรฉัตร ศรีวิลัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,325 วันที่ 24 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9