ดับฝันโรงไฟฟ้าถ่านหิน ‘ศิริ’สั่งกฟผ.รื้อแผนใหม่-หันพึ่งเชื้อเพลิงก๊าซฯ

24 ธ.ค. 2560 | 03:29 น.
บอร์ด กฟผ.ถกเครียดสัปดาห์นี้ ชี้ชะตาโรงไฟฟ้าภาคใต้ใหม่ หลัง “ศิริ” สั่งทบทวนแผนลงทุนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้องหันไปสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซจะนะ 3 และสร้างในพื้นที่โรงไฟฟ้าเทพาแทน พร้อมเสนอแผนสำรองโรงไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มจากพลังงานทดแทน

ปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ในพื้นที่ภาคใต้ที่ยืดเยื้อ ดูเหมือนว่าขณะนี้กำลังใกล้บทสรุปแล้ว เมื่อนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ มีท่าทีจะให้เรื่องดังกล่าวยุติลง โดยการยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติแทน โดยอ้างเหตุผลการต่อต้าน และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของภาคใต้

[caption id="attachment_244014" align="aligncenter" width="418"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

ล่าสุดแหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เข้ามารับตำแหน่ง ได้สั่งการให้กฟผ.ไปทบทวนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ใหม่ ว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากเกิดปัญหาการต่อต้านมาต่อเนื่อง

พร้อมทั้งให้พิจารณาทบทวนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-11 กำลังผลิต 2.6 พันเมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุลงในปี 2565-2566 ว่าจะยังมีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งการสั่งดำเนินงานดังกล่าวถือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งสัญญาณที่จะไม่สนับสนุนให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น

++บอร์ดกฟผ.หารือเครียด
โดยภายในสัปดาห์นี้ทางคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด กฟผ.) จะประชุมเพื่อพิจารณาแผนลงทุนโรงไฟฟ้าในอนาคตใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่(ที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าสร้างทดแทน) ซึ่งตามแผนจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 1 พันเมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะนะ 3 กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เบื้องต้น กฟผ.ยังคงแผนลงทุนโรงไฟฟ้าจะนะ 3 ซึ่งจะสร้างในพื้นที่เดียวกับโรงไฟฟ้าจะนะ 1 และจะนะ 2 จ.สงขลา โดยจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนหรือไม่ เนื่องจากเกิดความล่าช้าและยังมีเสียงคัดค้านจาก บางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง หากในอนาคตไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ อาจต้องปรับเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ 3 เป็น 1-2 พันเมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

อย่างไรก็ตาม พื้นที่การก่อสร้างจะสามารถรองรับได้เพียงโรงไฟฟ้าจะนะ 3 เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะต้องหาพื้นที่อื่นๆในภาคใต้ เบื้องต้นอาจใช้พื้นที่ของโรงไฟฟ้าเทพา ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่เกือบ 3 พันไร่

++ยันถ่านหินยังมีความจำเป็น
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) ฉบับปรับปรุง ยังคงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไว้ที่ 20-25% ภายในปี 2579 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20% ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นการก่อสร้างทดแทนจะยังผลักดันให้เกิดขึ้นตามแผน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าสร้างทดแทนแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ขนาดกำลังผลิตติดตั้งจากเดิม 600 เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์ โดยกำหนดให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2561 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

ขณะเดียวกันโครงการโรงไฟฟ้าสร้างทดแทนแม่เมาะ 8-11 กำลังการผลิตปัจจุบัน 2.6 พันเมกะวัตต์ ที่เดินเครื่องมาตั้งแต่ปี 2540-2541 ซึ่งจะหมดอายุในปี 2565-2566 ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เนื่องจากปริมาณถ่านหินในเหมือง ยังสามารถใช้ได้จนถึงปี 2590 ส่วนจะมีการปรับกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแผนลงทุน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น จะทำให้สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น

นอกจากนี้ กฟผ.ร่วมกับบริษัท มารูเบนิ ของญี่ปุ่น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เครื่องที่ 12-13 เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า

วิทยุพลังงาน-17-503x73 ++เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะสั่งการให้ กฟผ.ทบทวนแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในอนาคตตามแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงแล้ว ยังสั่งให้เตรียมเสนอแผนสำรองไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาไม่เกิดขึ้น ซึ่ง กฟผ.มองว่าจำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ 3 (จากแผนเดิม 800 เมกะวัตต์ อาจเพิ่มเป็น 2 พันเมกะวัตต์) แล้ว แต่ก็ต้องพิจารณาเชื้อเพลิงด้วย เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าจะนะใช้ก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) คนละครึ่งกับมาเลเซีย ดังนั้น หากจะต้องใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นจะต้องหารือกับทางมาเลเซียก่อน

ประกอบกับต้องพิจารณาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนควบคู่กันด้วย โดยจากแนวโน้มพบว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) บวกกับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงถ่านหินได้อาจเข้าไปลงทุนในส่วนนี้เพิ่มเติม แต่การลงทุนพลังงานทดแทนไม่ใช่ดูเรื่องต้นทุนเพียงอย่างเดียว จะต้องดูเรื่องความมั่งคงไฟฟ้าด้วย ซึ่งภายหลังจากมีมติบอร์ดกฟผ.ออกมาแล้ว จะเสนอแผนลงทุนโรงไฟฟ้า และแผนสำรองไฟฟ้าภาคใต้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป คาดว่าน่าจะภายในเดือนธันวาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9