5 ดาวรุ่งเกษตร ดันจีดีพี 1.3 ล้านล.

23 ธ.ค. 2560 | 00:07 น.
สศก. ชี้จีดีพีภาคเกษตรปี 61 ยังแรง จ่อทำนิวไฮเป็นปีที่ 2 คาดโต 4-5% ระบุ ข้าว ทุเรียน มังคุด กุ้ง โคเนื้อ หัวขบวนตลาดสดใส ยาง มัน ข้าวโพด ทรงตัวรัฐยังต้องพยุงราคา ขณะอ้อย ปาล์ม สับปะรด ไก่เนื้อ สุกร ต้องเฝ้าระวัง เอกชนจี้รัฐจริงจังวางแผนผลิต

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตรและทิศทางแนวโน้มด้านการผลิต ราคา และการส่งออก ในปี 2561 ที่กำลังจะมาถึงเพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และลดความเสี่ยง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สศก. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สศก.ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีในภาคเกษตรของไทยในปี 2561 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 4-5% หรือมีมูลค่าประมาณ 1.225-1.3 ล้านล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 9% ของจีดีพีรวมประเทศ) จากปี 2560 คาดจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัวที่ 2.5-3.5% หรือมูลค่าประมาณ 1.223 -1.227 ล้านล้านบาท และปี 2559 ติดลบ 0.5% หรือมูลค่า 1.197 ล้านล้านบาท ถือว่าจีดีพีภาคเกษตรในปี 2561 จะขยายตัวสูงเป็นปีที่ 2

P1-3324-a ++5สินค้าเกษตรยังรุ่ง
ทั้งนี้ในปี 2561 สศก.ได้ประเมินรายสินค้า แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.สินค้าดาวรุ่งมี 5 สินค้าที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ ข้าว มังคุด ทุเรียน โคเนื้อ และกุ้ง โดยในสินค้าข้าว ปัจจุบันไทยมีการพัฒนาการผลิตข้าวที่ได้คุณภาพหรือเกรดพรีเมียมขายได้ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม/ข้าวหอมจังหวัด ข้าวอินทรีย์ และข้าวสี เป็นที่ต้องการของตลาดมาก อาทิ จีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น

มังคุด คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.97 แสนตัน แต่จะยังไม่เพียงพอในการส่งออกและบริโภคภายใน ทำให้ราคาจะยังดีใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา, ทุเรียนคาดจะมีผลผลิต 7.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 คิดเป็น 23.36% โดยราคาจะยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา,โคเนื้อพันธุ์ดี คาดปี 2561 ราคาจะเพิ่มขึ้น จากความต้องการบริโภคภายในที่เพิ่มขึ้น และกุ้งเพาะเลี้ยง คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3.35 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื่องจากราคากุ้งอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น

++3 สินค้าทรงตัว
กลุ่มที่ 2 สินค้าที่มีแนวโน้มทรงตัว (รัฐยังต้องมีมาตรการพยุงราคาอยู่) ได้แก่ ยางพารา ปี 2561 คาดเนื้อที่กรีดยางได้จะมี 20.17 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 19.22 ล้านไร่ ส่งผลทำให้ราคามีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจโลกและราคานํ้ามันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เป็น 4.49 ล้านตันหรือคิดเป็น 3.46% ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น จากรัฐบาลได้เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมดูดซับผลผลิตส่วนเกินในช่วงที่มีผลผลิตมาก วงเงิน 45 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.60-31 มี.ค.61) ส่วนมันสำปะหลังคาดจะมีผลผลิต 28.57 ล้านตัน ลดลง 7.66% เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื่องจากราคามันที่เกษตรกรขายได้ตํ่าลง ส่งผลให้หันไปปลูกพืชอื่นที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

++5กลุ่มเฝ้าระวัง
ส่วนสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ปี 2561 คาดจะมีผลผลิต 104.72 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 12.49% จากปี 2560 เนื่องจากภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย, ปาล์มนํ้ามันคาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็น 14.75 ล้านตัน จากอากาศเอื้ออำนวยฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับสต๊อกนํ้ามันปาล์มโลกเพิ่มสูงขึ้น คาดราคาปาล์มนํ้ามันที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งปีที่ 4 บาท/กก., สับปะรดราคาที่เกษตรกรขายได้ไม่สูงมากนัก เพราะผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีการแข่งขันสูง ส่งผลราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง

ขณะที่ไก่เนื้อ ปี 2561 คาดแนวโน้มราคายังใกล้เคียงกับปี 2560 เนื่องจากผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น และสุกรปี 2561 คาดว่ามีปริมาณ 19.8 ล้านตัว เพิ่มจากปีก่อน 3.28% แต่การบริโภคจะใกล้เคียงกับปี 2560 หรือมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย

++ต้องใช้ตลาดนำการผลิต
นายเฉลิม รูปเล็ก เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เผยว่า ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2560 เกษตรกรขายสับปะรดได้ราคา 3.00-3.20 บาท/กิโลกรัม(กก.) ตํ่าสุดในรอบปี จากปีที่แล้วขายได้สูงสุด 14 บาท/กก.ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจปลูกเพิ่มขึ้น คาดปี 2561 ผลผลิตจะลดลงเล็กน้อย จากราคาไม่จูงใจ สมาคมได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับโรงงานและผู้ซื้อตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลเรื่องการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อราคาจะได้ไม่ตกตํ่ามาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9