อุ้ม‘เจ้าสัว’ กมธ.หั่น 40% ภาษีที่ดิน

23 ธ.ค. 2560 | 01:03 น.
กมธ.วิสามัญฯ ให้ของขวัญปีใหม่ประชาชน เคาะลดเพดานอัตราภาษีที่ดินลงถ้วนหน้า 40% เกษตรเหลือ 0.15% พาณิชย์ เหลือ 1.2% ที่ว่างลดด้วย ดีเดย์บังคับใช้ 1 มกราคม 2562 จัดเก็บจริงปี 2563 เอกชนแบไต๋ แผนจูงใจผ่านร่าง ชี้อีก 2 ปี เด้งกลับใช้อัตราเดิม

พล.ท. ชาญชัย ภู่ทอง โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยมีผู้ร่วมรับฟัง 71 หน่วยงานรวมทั้งภาคประชาชนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ว่า เกี่ยวกับประเด็นคาใจร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.. โดยจะรวบรวมข้อสรุปจากเวทีเข้าสู่การพิจารณา กมธ. วิสามัญ และ วันที่ 24 มกราคม 2561 จะเสนอสนช.พิจารณาต่อไป โดยมีผลบังคับใช้ปี 2562 พร้อมทั้งออกกฎหมายรองรับอีกกว่า 20 ฉบับ เพื่อให้ท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ และจัดเก็บจริงในปี 2563

นายพรชัย ฐีระเวชกรรมาธิการวิสามัญ ในฐานะ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวว่า ที่ผ่านมามีรัฐบาลผลักดัน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 11 สมัย และรัฐบาลนี้ก็เช่นกันถ้าภาษีที่ดินบังคับใช้ได้จริงปี 62 ท้องถิ่นจะปรับตัวครั้งใหญ่ และเป็นเจ้าภาพในการจัดเก็บรายได้เข้าท้องถิ่นของตนเองเพื่อนำรายได้ไปพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญ อย่างไรก็ดีข้อสรุปคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นของขวัญปีใหม่ โดยลดเพดานอัตราภาษีลง 40% ทุกกลุ่ม และ กำหนดในร่างกฎหมายให้มีความเหมาะสมและลดผลกระทบต่อการจัดเก็บ

ทั้งนี้ รายละเอียดภาษีที่ประชาชนควรทราบ ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมลดเหลือ 0.15% จากเดิมร่างที่รัฐบาลเสนอ 0.2% กรณีที่อยู่อาศัยเหลือ 0.3% จาก 0.5% อื่นๆ นอกจากเกษตรและที่อยู่อาศัย (พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม) เหลือ 1.2% จาก 2% สำหรับที่รกร้าง เหลือ 1.2% แต่เก็บเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3% จากเดิมจัดเก็บ 2% แต่เก็บเพิ่ม 0.5% ทุก3ปีแต่ไม่เกิน 5% หากไม่มีการพัฒนา โดยคำนวณจากมูลค่าจริงตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ หากเทียบกับภาษีเก่าที่ใช้ ราคาประเมินปี 2521-2524 โดยมูลค่าที่ดินเพิ่ม 28 เท่า รายได้รัฐเพิ่ม 38 เท่า ขณะเดียวกันกรณีที่ดินแปลงไหนที่อยู่ในข่ายเกษตรเช่นต้องมีต้นไม้กี่ต้นหรือสัดส่วนเท่าไหร่ของพื้นที่ แต่หากปลูกอำพรางตาเจ้าพนักงาน เฉพาะ ขอบๆ แปลงที่ดินแต่ด้านในกลางที่ดินเป็นพื้นที่โล่งก็ไม่ถือว่าเป็นที่เกษตร

อย่างไรก็ดีจะหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลังและกระ- ทรวงเกษตรฯอีกครั้ง เพราะเกรงว่าจะเกิดการลักไก่ ขณะที่ ที่รก ร้างว่างเปล่าที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ มากถึง 1.2 ล้านไร่

สำหรับอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงเสนอให้มีบัญชีอัตราภาษีแนบท้ายเพื่อจัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรกและสำหรับปีที่ 3 เป็นต้นไปให้เป็นไปตามร่างกฎหมายที่เสนอโดยให้รัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินที่จะจัดเก็บจริงและได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย

TP2-3324-4 ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมมูลค่า ไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นหากอยู่ในเขตอปท.เดียวกัน ส่วนที่อยู่อาศัย กรณีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้อยู่อาศัยและมีทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรหรือบ้านหลังแรกในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษี ได้รับยกเว้นหากมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท และกรณีบุคคลธรรมดา เช่าที่ดิน เพื่อปลูกสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย ในฐานะเจ้าของอาคาร และมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีได้รับยกเว้น หากมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท

ทั้งนี้อัตราภาษีที่เสนอให้จัดเก็บประเภทเกษตรกรรมบุคคลธรรมดา ตํ่ากว่า 50 ล้านบาทได้รับยกเว้น มูลค่า 50-75ล้านบาท เสียภาษี 0.01.% มูลค่า 50-100 ล้านบาทเสียภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% มูลค่า 500-1000 ล้านบาท เสียภาษี 0.07% กรณีเกษตรกรรมที่ทำในนามนิติบุคคลไม่ได้รับยกเว้น 0-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาทเสียภาษี 0.05% มูลค่ามากกว่า 1000 ล้านบาทเสีย 0.10%

กรณีที่ดินอยู่อาศัยหลัก ตํ่า 20 ล้านบาท ได้รับยกเว้นขณะที่บ้านราคาตั้งแต่ 20-50 ล้านบาทเสียภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาทเสียภาษี 0.05% มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทเสียภาษี 0.10% บ้านหลัง 2 มูลค่าตั้งแต่ 0-50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาทเสียภาษี 0.05% มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทเสียภาษี 0.10% ส่วนประเภทอื่นๆ และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า ไม่ยกเว้นมูลค่า 0-50 ล้านบาทเสียภาษี 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาทเสียภาษี 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาทเสียภาษี 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาทเสียภาษี 0.6% มูลค่ามาก กว่า 5,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.7% ทั้งนี้ ส่วนต่างที่เสียภาษี 1 ล้านจะเสียภาษีเฉลี่ยประมาณ 100- 200 บาทเท่านั้น

ซึ่งสอดรับกับนายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ กรรมการวิสามัญ ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายจากภาษีที่ดิน ไม่มาก เฉลี่ย 1 ล้านบาท เสียแค่ 200 บาทแต่หากท้องถิ่นมีรายได้ โดยประชาชนมีส่วนร่วมก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่
ด้านศ. ดร.สกลธ์ วรัญญูวัฒนา กมธ.วิสามัญกล่าวว่า ภาษีที่ดินใหม่จะเป็นเหมือน พีระมิดกลับหัว จากเดิม ภาษีบำรุงท้องที่จะจัดเก็บภาษีได้ 10% และภาษีโรงเรือนจัดเก็บภาษีได้ 70-80% แต่หากใช้ภาษีที่ดินใหม่ และยกเลิกกฎหมายเก่าทั้ง 2 ฉบับ จะมีรายได้จากการจัดเก็บที่ดินจากมูลค่าของราคาประเมินที่เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ย 6% จะทำให้ เกิดการกระจายการถือครองได้

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และในฐานะกรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าการลดเพดานภาษีลง จะเป็นแค่สั้นๆ 2 ปีแรก เพราะอย่าลืมว่า แต่ละประเภท กิจการและมูลค่า จะมีอัตราเสียภาษีย่อยๆ ไว้แล้ว และหลังจากนั้นรัฐบาลก็จะจัดเก็บ ในอัตราที่กำหนดเดิม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9