คดีBDMS สร้างบรรทัดฐานใหม่ ร.พ.มั่วเหตุผลเลิกสัญญาไม่ได้!!!

24 ธ.ค. 2560 | 05:08 น.
MP18-3324-1C ในที่สุด การทำธุรกิจแบบไม่ตรงไปตรงมาของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็มีคำตอบออกมาชัดเจนแล้วว่า “เป็นการเอาเปรียบลูกค้า” เมื่อศาลแพ่งตัดสินว่าข้อตกลงตามโครงการไลฟ์ พริวิเลจ คลับ (Life Privilege Club) ไม่มีลักษณะเป็นประกันภัย อย่างที่บริษัทอ้างเป็นเหตุผลในการปิดโครงการ แต่เป็นสัญญาให้บริการอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้บังคับกันได้ เมื่อไม่มีเหตุให้เลิกสัญญาตามข้อตกลง หรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การบอกเลิกสัญญาที่บริษัททำไว้กับสมาชิก จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนั้นศาลยังมีคำพิพากษา ให้บริษัทเปิดสโมสร ไลฟ์ พริวิเลจคลับ กับปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรตามแผ่นพับโฆษณาต่อไป

“คำตัดสินของศาล สร้างบรรทัดฐานให้กับโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ อาทิ โรงพยาบาล พญาไท 2 บริษัทในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ ที่อ้างสัญญาประกันภัย (เหมือนกัน) ในการยกเลิกสัญญาบัตร Phyathai Ultimate Trust card (Elite/Prime) ที่สมาชิกกิตติมศักดิ์ชำระเงิน 1.5 ล้านบาท/คน เพื่อแลกกับการรักษาฟรีตลอดชีวิต ยกเว้นศัลยกรรมและทันตกรรม หลังจากพรีเมียมการ์ดใช้มานานกว่า 8 ปี”

BDMS เลือกวันที่ 20 มกราคม 2560 ประกาศปิดโครง การไลฟ์ พริวิเลจคลับ ซึ่งถ้าหากสมาชิกที่มีอยู่จำนวน 234 คน ไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ยอมรับโดยดุษณี ในเงื่อนไข รับเงินต้นคืนทั้งหมด แถมดอกเบี้ยอีก 10% และส่วนลดตลอดชีพอีก 50% สำหรับการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ (ศูนย์วิจัย) โรงพยาบาลหัวใจ กรุงเทพและโรงพยาบาลวัฒโนสถ เท่านั้น จะสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม (อีกกรณีหนึ่ง) และผลประโยชน์มหาศาลจะตกอยู่กับบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการฯ!!

bmc-07 การปิดโครงการ ของคณะกรรมการและผู้บริหาร ที่มีนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ขัดต่อวิสัยทัศน์ และพันธกิจที่บริษัทประกาศไว้ว่าจะมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการให้บริการทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ เพื่อความไว้วางใจและพึงพอใจสูงสุดของผู้รับบริการ

และที่สำคัญยังเป็นการกระทำที่ “ผิดสัญญา” ที่ทำไว้กับคู่ค้า สะท้อนถึงการขาดจริย ธรรม และบรรษัทภิบาล (ซีจี)ของบริษัทรวมถึงผู้บริหารและกรรมการทุกคน เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 และปิดรับสมาชิกในปี 2551 ในยุคที่กิจการยังมีขนาดเล็ก และไม่มีเครดิตมากเหมือนในปัจจุบัน แต่เมื่อบริษัทมีเงินเหลือกินเหลือใช้กลับเลือกปฏิบัติกับลูกค้าที่มีพระคุณอย่างนี้หรือ?

“ไม่แฟร์ เมื่อบริษัทต้องการเงินในอนาคตมาใช้ในยามฝืดเคือง เปิดโครงการหาสมาชิกโดยคิดค่าธรรมเนียมในราคาทองคำ 200 บาท ในสมัยนั้น ซึ่งแต่ละคนจ่ายแตกต่างกัน 1 ล้านบาทบ้างจนถึง 2 ล้านบาท สมาชิกยอมแบกรับความเสี่ยง ควักเงินก้อนใหญ่จ่ายล่วงหน้า โดยไม่รู้ว่าจะได้ใช้บริการจากโรงพยาบาลกรุงเทพหรือไม่ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ตามธรรมชาติ มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลและรักษาเป็นอย่างดีอย่างที่คาดหวัง จู่ๆบริษัทกลับมายกเลิกสัญญา คงเป็นเพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่า คนไทยอายุยืนขึ้น มีภาระผูกพันในระยะยาว ตามสัญญาที่ระบุไว้ว่า จ่ายเพียง 100 บาท/ครั้ง สามารถรักษาฟรีทุกโรคไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) หรือผู้ป่วยใน (IPD)”

นอกจากนั้นบริษัทยังมีภาระในการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายก้อนโต สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ คือ ฉบับที่ 4 (ปรับปรุง 2558) เรื่องสัญญาประกันภัย

บริษัทยกเหตุผลว่า ผู้สอบบัญชี คือบริษัทสำนักงาน อีวาย จำกัด แจ้งให้บริษัทบันทึกบัญชีเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของโครงการเพื่อให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้กับงบการเงินในปี 2559 เป็นต้นไป เนื่องจาก ไลฟ์ พริวิลเลจคลับ มีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัย และยิ่งซํ้าร้ายไปกว่านั้น ข้ออ้างที่ว่า หากบริษัททำต่อไป จะถือว่ามีเจตนาที่จะกระทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยราชการ ในการประกอบธุรกิจประกันภัย หลังจากที่ปรึกษากฎหมายยืนยันว่าโครงการไลฟ์ พริวิลเลจคลับ เข้าลักษณะเป็นการทำสัญญาประกันภัย

เป็นไปได้อย่างไร! บริษัทตีความออกทะเล ถึงเรื่องยังไม่ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย หากดำเนินโครงการต่อไป จะถือว่ามีเจตนาที่กระทำผิดกฎหมาย เพราะมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ เป็นเพียงการคำนวณแบบประกันเท่านั้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 กรุงเทพดุสิตเวชการ เป็นบริษัทมหาชน ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากกว่า 3 แสนล้านบาท มีผู้บริหารเก่งๆอยู่มากมาย แต่กลับบิดเบือนข้อเท็จจริงไปไกลมาก และแกล้งไม่เข้าใจเจตนาและวัตถุประสงค์ของมาตรฐานที่ปรับปรุงใหม่ ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ที่กำหนดให้บริษัททุกแห่งที่มีค่าใช้จ่ายในอนาคตจะต้องตั้งสำรองเตรียมไว้ เช่น การสำรองรองรับการเกษียณอายุของพนักงานในแต่ละปี เพราะหากไม่ตั้งสำรองไว้เกรงว่าเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายจะไม่มีเงินเพียงพอ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยแต่อย่างใด

การปิดโครงการไลฟ์ พริวิลเลจ คลับ ทำไม่ได้ หากสมาชิกไม่เห็นด้วย เพราะเป็นสัญญาผูกพันตลอดไป ไม่ว่าบริษัทจะเปลี่ยนเจ้าของ หรือกฎหมาย หลักเกณฑ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กรุงเทพดุสิตเวชการตัดสินใจพลาดครั้งนี้ อาจจะมีผลกระทบต่อความเชื่อถือในการทำธุรกิจในระยะยาว โดยเฉพาะการเปิดอภิมหาโปรเจ็กต์ “ศูนย์สุขภาพครบวงจรแห่งแรกในเอเชีย” หลังจากทุ่มเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทในการซื้อ โครงการปาร์คนายเลิศ บนถนนวิทยุ ซึ่งโมเดลในการทำธุรกิจ คงต้องขายสมาชิกให้กับลูกค้าวีไอพี ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ในราคาหลายล้านบาท

ความน่าเชื่อถือของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการฯ ถูกสั่นคลอน บริษัทคงเหนื่อยสำหรับการขายสมาชิก “ศูนย์สุขภาพครบวงจรแห่งแรกในเอเชีย” ใครจะกล้าควักเงินก้อนโตจ่ายล่วงหน้าอีก หวั่นเหตุการณ์ซํ้ารอย ไลฟ์ พริวิลเลจคลับ...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9