รายใหญ่ขยับลงทุนเพิ่ม ‘อีอีซี’จุดพลุสินเชื่อ KBANK ลั่นโต 6%

23 ธ.ค. 2560 | 10:14 น.
แบงก์ชี้นโยบายรัฐอีอีซี-ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หนุนธุรกิจรายใหญ่โตตาม “ไทยพาณิชย์” เตรียมรุกรายกลางเพิ่มการเติบโต ยันปล่อยกู้พลังงานลมไม่เสี่ยง “ทีเอ็มบี” หนุนลูกค้าลงทุนต่างประเทศ เชื่อช่วงบาทแข็งจังหวะเหมาะซื้อกิจการ ขณะที่“กสิกรไทย” ตั้งเป้าโต 6-8% จากยอดคงค้าง 5.5-5.6 แสนล้านบาท

นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อขนาดใหญ่ปี 2561 ยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มที่เห็นการขยายตัวได้ดี จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการขยายการลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการบริโภค ที่ยังคงเห็นดีมานด์การเติบโตได้ดี รวมถึงกลุ่มที่เน้นเรื่องการพัฒนาในเรื่องของนวัตกรรม

[caption id="attachment_243823" align="aligncenter" width="298"] วศิน ไสยวรรณ วศิน ไสยวรรณ[/caption]

แผนธุรกิจรายใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2561 เบื้องต้นจะโฟกัสกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่รายเล็กลงมาให้ขยายการเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งเน้นกลุ่มที่เติบโตสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนของประเทศ

อย่างไรก็ตามในส่วนของกลุ่มพลังงานทดแทนหรือพลังงานลม ซึ่งธนาคารปล่อยกู้ก่อนหน้านี้ ธนาคารมองว่าเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่ความเสี่ยงยังอยู่ในกรอบและหลักเกณฑ์ของการพิจารณา ซึ่งเป็นความเสี่ยงทั่วไป ไม่ได้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ

ก่อนหน้าหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ปล่อยกู้บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวนกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 5 โครงการ และล่าสุดปล่อยกู้ 3,300 ล้านบาท ให้แก่บริษัทพีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ฯ ก่อสร้างปาล์มคอมเพล็กซ์ปาล์มครบวงจร

MP24-3324-A นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ธนาคารประเมินภาพการเติบโตสินเชื่อรายใหญ่ทางบวก คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงปีนี้ หรือเติบโตดีกว่าปีนี้เล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่เติบโตและไปได้ดี จะเป็นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน วัสดุก่อสร้าง เกี่ยวข้องท่องเที่ยว และการส่งออก ดังนั้นกลุ่มที่ธนาคารจะเน้นการเติบโตจะสอดคล้องกับเซ็กเตอร์ที่ขยายตัวในตลาดและสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ

ขณะที่สัญญาณการลงทุนในต่างประเทศยังคงมีให้เห็นในปีหน้า เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมยังต้องการฐานการผลิตต้นทุนถูก และขยายฐานลูกค้า เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ที่ยังเห็นความต้องการขยายตลาดไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากลงทุนในกลุ่ม CLMVแล้วยังเห็นขยายไปตลาดอินเดีย ประกอบกับปัจจุบันค่าเงินแข็งค่า จึงเป็นโอกาสในการซื้อขายและลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารที่ต้องการเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำทางด้านการลงทุนครบวงจร

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อรายใหญ่ในปี 2561 กรอบอยู่ที่ 6-8% จากปัจจุบันยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.5-5.6 แสนล้านบาท เติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ ส่วนการขยายตัวมาจากนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการสนับสนุนเอสเอ็มอี และEEC หากมีความชัดเจนทางด้านกฎหมาย จะช่วยสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่และกลาง

ทั้งนี้ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณการเตรียมตัวของผู้ประกอบการบางส่วนแล้วในการขอวงเงินสินเชื่อเพื่อลงทุน แต่ยังเป็นสินเชื่อลงทุนระยะสั้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังคงใช้สินเชื่อหมุนเวียนอยู่ แต่คาดว่าหากสัญญาณและกฎหมายชัดเจนจะเริ่มเห็นสินเชื่อเพื่อลงทุนระยะยาว ขณะนี้ลูกค้ารอแค่เวลาและความชัดเจน

[caption id="attachment_131762" align="aligncenter" width="503"] สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในธุรกิจรายใหญ่ยังคงรุนแรงให้เห็นทุกปี ประกอบกับมีทางเลือกให้ลูกค้าในการระดมเงินทุนผ่านตลาดทุน เช่น การออกหุ้นกู้ ตราสารหนี้ เป็นต้น ดังนั้น การใช้วงเงินสินเชื่ออาจจะไม่ใช่ทางเลือกหลัก ธนาคารจึงจะเน้นตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการ ภายใต้โครงสร้างรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมในสัดส่วนเท่ากันที่ระดับ 50%

ส่วนความเสี่ยงในปี 2561 ในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารมีกรอบนโยบายในการบริหารความเสี่ยง ทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์การกำกับลูกค้ารายใหญ่ (Single Lending Limit: SLL) ที่จะต้องไม่เกิน 25% ของเงินกองทุนของธนาคาร รวมถึงการบริหารความเสี่ยงภายใน ภายใต้การกระจายพอร์ตสินเชื่อ โดยควบคุมการปล่อยสินเชื่อในแต่ละเซ็กเตอร์จะต้องไม่เกิน 8-10% ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารเข้มงวดในเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก ทำให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่การเติบโตยังไม่เด่นชัดและยังเป็นกลุ่มที่ยังระมัดระวังอยู่ จะเป็นกลุ่มอสังหา ริมทรัพย์ ที่ยังมีผลจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มขึ้นในสินเชื่อที่อยู่อาศัย และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องทำบัญชีเดียว แต่ยังไม่ได้ทำ

ส่วนกลุ่มที่ไปได้ดีและขยายได้ต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มอาหาร พลังงาน และวัสดุก่อสร้าง เช่นเดียวกับสัญญาณการลงทุนในต่างประเทศ จะเห็นกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม ที่มีดีลให้เห็น ทั้งในส่วนของการซื้อกิจการ และการร่วมทุน ซึ่งคาดว่าในปี 2561 น่าจะมีธุรกรรมให้เห็นต่อเนื่องจากปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9