บุคคลแห่งปี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จุดติดความเชื่อมั่น ฟื้นเศรษฐกิจไทย

05 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตลอด 1 ปีเศษ รัฐบาลได้รับคำชื่นชมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และจัดระเบียบสังคม ที่เข้มข้น ทว่า ...ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ไล่เรียงตั้งแต่ระดับปากท้องชาวบ้าน จนถึงปัญหาเศรษฐกิจชาติ มีเสียงจากหลายภาคส่วนสะท้อนว่ารัฐบาลยังเอาไม่อยู่

ทั้งที่ก้าวแรกของภารกิจกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ในมือ "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้โดดเข้าทุ่มเทแก้ปัญหาเร่งด่วนหลายเรื่อง ทั้งหนี้รับจำนำข้าวกว่า 9 หมื่นล้านบาท อัดฉีดจ่ายเงินช่วยค่าปัจจัยการผลิตชาวนา 4 หมื่นล้านบาท ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรก เร่งรัดการใช้งบภาครัฐ เตรียมวางโครงสร้างมุ่งอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป และยืนยัน "สัญญาณดีทางเศรษฐกิจ" เป็นระยะ
แต่ไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นได้ เนื่องจากความพยายามที่ใส่ไป ไม่อาจทานการทรุดตัวของเศรษฐกิจช่วงตกท้องช้าง เสียงบ่น "เศรษฐกิจแย่" ดังเซ็งแซ่ขึ้นเป็นลำดับ

นับวันปฏิกิริยาทั้งจากเอกชนและอดีตนักการเมือง ออกโรงวิจารณ์ตอกย้ำทีม เศรษฐกิจไม่มีนโยบายในเชิงรุก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทันท่วงที ไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน รอยปริร้าวในครม. เริ่มขยายวงกลายเป็นปัญหาของรัฐบาล
25 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจปรับใหญ่คณะรัฐมนตรี ตั้งดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกฯ จัดทีมใหม่คุม 7 กระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ รวม ก.การต่างประเทศ เพื่อความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนทั้งในและต่างประเทศ

ภารกิจกู้วิกฤติเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด เป็นจังหวะที่ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ภาพที่ออกมาจึงดูเหมือน ดร.สมคิด เป็นความหวังใหม่ ในการเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังจะดิ่งเหว ขณะที่ภาคเอกชนแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพว่าจะสามารถนำพาเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหวได้

กุญแจสำคัญการฟื้นเศรษฐกิจคือปลุกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้ได้ และต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะโจทย์ยากที่ "ลุงตู่" ให้ทีมเศรษฐกิจแก้ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจต้องมีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น และต้องดำเนินการตามโรดแมปให้เสร็จสิ้นภายในปี 2559

นับเป็นความท้าทาย ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกขาลง และความหวังที่ภาคเอกชนตั้งเป้าอยากเห็นหน้าเห็นหลังภายใน 2 เดือน

ปัจจัยสำคัญที่ภาคเอกชนขานรับกับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจุดเด่นเฉพาะตัวของดร.สมคิด ที่มีภาพลักษณ์ "เป็นมิตรกับนักธุรกิจ" มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้เป็นผู้บริหารประเทศ หรือเมื่อเป็นผู้ดูอยู่ขอบสนามการเมือง ได้จัดตั้ง "สถาบันอนาคตไทยศึกษา" จัดตั้งขึ้นภายใต้มูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร

ทันทีที่ได้รับมอบหมายภาระฟื้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ยุทธวิธีสร้างความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย หรือ " ประชารัฐ" ประกอบด้วย รัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก

จากแนวคิดประชารัฐดังกล่าว ส่งผลให้นโยบาย "กองทุนหมู่บ้าน" ในอดีต ถูกปลุกขึ้นมาให้คึกคักอีกครั้ง ด้วยเหตุผลเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ดี โอกาสที่จะสร้างความเข้มแข็งของประเทศ โดยใช้กลไกการทำงานของกองทุนหมู่บ้าน ควบคู่กับแนวทาง "ประชารัฐ" ที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่าง รัฐ -เอกชน-ประชาชน

ดร.สมคิดเชื่อมั่นจากประสบการณ์ที่เคยทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ที่เคยทำมาเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ว่า กองทุนหมู่บ้านไม่ใช่แค่เครื่องมือที่ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่สามารถเป็นกลไกที่จะปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นในอนาคตได้

อีกด้านหนึ่งมีการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดสรรให้ตำบลละไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่และเป็นการกระจายรายได้ลงสู่ชนบทอีกต่อหนึ่ง

ตามด้วยการผลักดันให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การออกมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายพัฒนาระบบชำระเงินของประเทศ (เนชั่นแนล อี-เพย์เม้นท์)

รวมทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการในช่วง 7 วัน เป็นของขวัญปีใหม่ 2559 ให้ประชาชน แถมกระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศอีกต่อหนึ่ง

ในระหว่างที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกำลังขับเคลื่อนเต็มสูบ การเดินหน้าต่อยอดความสัมพันธ์กับนานาประเทศเป็นไปอย่างทันท่วงที

เห็นได้จากการประเดิมโรดโชว์พบรัฐและนักธุรกิจที่แดนซากุระ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย รัฐบาลญี่ปุ่นรับปากที่จะร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยกำลังสร้างขึ้นมา และการเร่งรัดโครงการพัฒนาด้านการขนส่งคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ในช่วงต้นปีหน้าจะตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นและจะเริ่มโครงการได้กลางปีหน้า

"ผ่านไป 3 เดือนความมั่นใจของคนในประเทศดีขึ้น และแนวโน้มความมั่นใจใน 3 เดือนข้างหน้าสูงสุด จากปฏิกิริยานักลงทุนเป็นสัญญาณที่ดีที่ให้ความสำคัญกับไทย เป็นกำลังใจให้รัฐมนตรีที่ทำงานตามเส้นทางปฏิรูป หากทำได้ดี 1-2 ปีจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้"

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ สะท้อนความสำเร็จหลังได้ความหวังจากนักลงทุนญี่ปุ่น หลังประสบความสำเร็จรอบแรก ดร.สมคิดเตรียมแผนโรดโชว์ อิหร่าน รัสเซีย เยอรมนี เกาหลีต่อในปีหน้า

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจก็เริ่มพลิกกลับเป็นบวกต่อเนื่องใน 3 เดือนท้ายของปี 2558 แม้ค่าเฉลี่ยทั้งปีจะยังติดลบ แต่ถ้ารักษาระดับความเชื่อมั่นที่ที่ฟื้นให้ยืนระยะต่อเนื่อง เพื่อรอของจริงผลจากการเริ่มกลับมาใส่เงินในโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เริ่มนับหนึ่งในปี 2559 นี้

เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยน่าจะเร่งรอบขึ้นได้ซึ่งยังต้องรอลุ้นกันต่อ

ด้วยฝีมือความทุ่มเท บวกจังหวะเศรษฐกิจไทยที่ลงถึงจุดตํ่าสุด เริ่มขยับกลับสู่ทิศขาขึ้น ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดสำเร็จ กองบรรณาธิการฐานฯ โหวตด้วยเสียงท่วมท้น ให้ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็น สปอตไลต์แห่งปี 2558

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559