คลังแจงเบิกงบตำบลละ 5 ล้านหลุดเป้า

05 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
รัฐบาลมึนตึ้บ หลังมหาดไทยขอยืดเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ตำบลละ 5 ล้านออกไปอีก จากเดิมกำหนด 31 ธันวาคม 58 เป็น ถึง 31 มีนาคม 59 วงในชี้ติดปัญหาชาวบ้านร้องเรียนโครงการที่ยื่นผิดวัตถุประสงค์ชาวบ้านร้องเรียนผ่านมา 4 เดือนเบิกจ่ายไปได้แค่ 136 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้พบปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณในมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ที่ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ที่จัดสรรให้ตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงินรวมกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ทำได้ล่าช้ามาก โดยล่าสุด(ข้อมูล ณ 21 ธันวาคม2558) สามารถเบิกจ่ายไปได้เพียง 136 ล้านบาท คิดเป็น 0.43% ของวงเงินจัดสรร โดยได้ผู้ว่าจ้างเพียง 259 ล้านบาท คิดเป็น 0.81% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรรเท่านั้น

ขณะที่เดิมทีตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 1 กันยายน 2558 กำหนดให้เบิกจ่ายให้จบภายใน 31 ธันวาคม 2558 แต่พอทำถึงช่วงเดือนตุลาคม การจัดสรรงบประมาณจริงยังมีปัญหากระทรวงมหาดไทยขอมติครม. โดยขอเลื่อนการเบิกจ่ายไปเป็น 31 มกราคม2559 ล่าสุดในการประชุมครม. เมื่อ 24 พฤศจิกายน ขอเลื่อนการเลิกจ่ายไปเป็น 31 มีนาคม 2559

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวมีจำนวนโครงการมากกว่า 1.2 แสนโครงการ ทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่การเงินในการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมาก ซึ่ง ครม. มีมติเมื่อ 13 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ อาศัย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บูรณาการ การบริหารโดยให้กระทรวง กรม ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จังหวัด หรืออำเภอ เข้ามาร่วมดำเนินการ ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร หรือด้านอื่นๆ โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการที่ติดขัด มีปัญหาล่าช้ามาตั้งแต่เริ่มโครงการ ทั้งในเรื่องความไม่ชัดเจนของการดำเนินงาน ตลอดจนมีเรื่องร้องเรียนถึงการจัดสรรงบประมาณระหว่างประชาชน และส่วนราชการในแต่ละจังหวัด โดยปัญหาที่พบขณะนี้เกี่ยวกับการขออนุญาตจากส่วนราชการ ที่พบว่า การขออนุญาตนั้นล่าช้ามาก หรือกรณีไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จะทำให้ราษฎรเสียโอกาส

อย่างไรก็ดีแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้มอบหมายให้ทางจังหวัด อำเภอ แจ้งคณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณา หากคณะกรรมการหมู่บ้าน เห็นว่าการขออนุญาตใช้พื้นที่จะทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า หรือหากไม่ได้รับอนุญาต คณะกรรมการหมู่บ้านอาจขอยกเลิกโครงการ และจัดทำโครงการใหม่ขึ้นมาทดแทนตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

โดยที่โครงการใหม่นั้นต้องพิจารณาในลักษณะอื่น เช่น โครงการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาแหล่งนํ้า โครงการพัฒนาอาชีพ หรือโครงการในลักษณะอื่นๆ ตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559