พลิกปมร่างพ.ร.ป.ที่มาส.ว. นวัตกรรม ‘เลือกไขว้’ สกัดฮั้ว

24 ธ.ค. 2560 | 02:59 น.
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ... เป็นกฎหมายลูก ฉบับสุดท้ายใน 10 ฉบับ ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการในวาระแรก ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ มีกำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 58 วัน หรือภายในวันที่ 17 มกราคม 2561

TP14-3324-1A ++“มีชัย” ยันเลือกไขว้กันฮั้ว
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชี้แจงว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายลูกฉบับนี้คือ การแบ่งกลุ่มบุคคลที่จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นส.ว. ไว้ 20 กลุ่ม ซึ่งเปิดให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพและจากทั่วประเทศ ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะประชากรแต่ละจังหวัดแตกต่างกันนั้น หลักการคือ ส.ว.เป็นตัว แทนประชาชนทั้งประเทศ ตามสาขาหรือคุณลักษณะที่สังกัดอยู่ ไม่ใช่เอาตัวจังหวัดเป็นเกณฑ์ สำคัญที่สุดคือ ต้องลงสมัครได้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนวิธีการให้เลือกไขว้เพื่อป้องกันการฮั้ว

++สนช.ห่วงบล็อกโหวต
ในการอภิปรายก่อนลงมติวาระแรก สนช.หลายคนทักท้วงเป็นห่วงวิธีการเลือกไขว้และการบล็อกโหวต โดยกังวลว่าวิธีการที่กรธ. วางไว้ตามร่าง พ.ร.ป. โดยให้ผู้สมัครเลือกกันเองแบบไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงประเทศ ค่อนข้างสับสน จะมีปัญหามาก และพรรคการเมืองนักการเมืองมีอิทธิพลคุมจังหวัดได้ เกรงว่าสิ่งที่กรธ.วางไว้จะไม่ได้ผลตามเจตนารมณ์ เพราะบล็อกกันได้ ทำอย่างไรจะหนีการซื้อเสียง และระบบใหม่นี้จะดีกว่าระบบการเลือกส.ว.โดยตรงของประชาชนหรือไม่

นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า อาจเกิดการบล็อกโหวตจากฝ่ายการเมืองที่ยอมเสียเงินจ้างคนของตัวเองเข้าไปตัดตอนตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ และแม้ว่าท้ายที่สุด คสช.จะคัดเลือกให้เหลือ 50 คน แต่ก็เป็น 50 คนใน 200 คนที่ส่งมาจากฝ่ายการเมืองอยู่ดี จึงเหมือนปรากฏการณ์ ยอมเสียเงิน 5,000 ล้านบาท ซื้อประเทศไทยทั้งประเทศ พร้อมยืนยันจะพยายามหาวิธีการแปรญัตติเพื่อป้องกันการบล็อกโหวตให้ได้

ด้านนายมีชัย ยอมรับว่า ปัญหาการบล็อกโหวตยังเป็นข้อกังวลใจ แต่จำเป็นต้องเดินหน้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีความหวังที่จะทำสิ่งใหม่ เดินไปข้างหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด บ้านเมืองคงจม ปลักที่เดิม คงไม่ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปประเทศ ไม่ต้องทำยุทธศาสตร์ “สิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า คนไทยได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด ถ้าคิดเพียงสิ่งที่เคยเป็นมา อาจเป็นอย่างที่สมาชิกพูด นั่นแปลว่าคนไทยทั้งประเทศถูกซื้อได้หมดทุกคน ไม่ว่าจะใช้ระบบอะไร”

บาร์ไลน์ฐาน ++สาระสำคัญพ.ร.ป.ที่มาส.ว.
ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กรธ.จัดทำส่งให้สนช.พิจารณา มีทั้งสิ้น 92 มาตรา มีสาระสำคัญคือ มาตรา 11 กำหนดให้ส.ว.มีจำนวน 200 คน โดยมาจากการเลือกกันเองของบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม จำนวน 20 กลุ่ม

เนื่องจากส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 วางหลักการให้เป็นสภาเพื่อสะท้อนประสบการณ์ องค์ความรู้ หรือความเชี่ยวชาญที่ลึกซึ้งของผู้ที่มีประสบการณ์ความชำนาญในสาขาต่างๆ ที่จัดแบ่งไว้เป็น 20 กลุ่ม โดยใช้การเลือกกันเอง โดยไม่ให้เกี่ยวโยงกับ ฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการเปลี่ยน จากหลักคิดเรื่องการเป็นสภาตรวจสอบหรือสภาพี่เลี้ยงในอดีต

++สมัครส.ว.จ่าย 2,500 บาท
ทั้งนี้ผู้สมัครรับเลือกเป็นส.ว.ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ยื่นสมัครได้คนละ 1 กลุ่มและอำเภอเดียว ทั้งนี้ ได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามไว้ด้วยว่า ต้องไม่เคยต้องโทษในความผิดฐานทุจริต ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นหรือเคยเป็นส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นมาไม่เกิน 5 ปี รวมถึงต้องไม่เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน

ผู้สมัครมีค่าธรรมเนียมคนละ 2,500 บาท จะได้รับคืนเมื่อได้รับเลือกเป็นส.ว. เว้นแต่กระทำการทุจริต หรือรู้เห็นเป็นใจให้การเลือกไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ส่วนค่าสมัครที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

ในการดำเนินการเลือกนั้น ในระดับประเทศเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระดับจังหวัดมีกรรมการ 7 คน ผู้ว่าฯ เป็นประธาน และระดับอำเภอมีกรรมการ 7 คน มีนายอำเภอเป็นประธาน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3 ++เลือก3ขั้นนั่งส.ว.
วิธีเลือกกันเองแบบไขว้ ถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากว่า มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน 3 ขั้น คือ ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ไม่มั่นใจว่าจะสกัดการฮั้วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอำเภอนั้น มีลำดับดำเนินการคล้ายคลึงกันในแต่ละขั้น เริ่มจากระดับอำเภอ คือ หลังครบกำหนดวันยื่นสมัครรับเลือกเป็นส.ว.จากผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว

ลำดับที่ 1 เลือกกันเองหาผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแต่ละกลุ่ม ผู้สมัครมาพร้อมกันที่สถานที่เลือกส.ว.ตามที่กำหนดในแต่ละอำเภอภายในเวลาที่กำหนด แยกเป็นกลุ่มตามที่สมัคร ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 20 กลุ่ม ให้ผู้สมัครเลือกกันเองได้ 2 คนในแต่ละกลุ่ม สามารถลงคะแนนให้ตนเองได้ แต่ลงคะแนนซํ้าไม่ได้ เรียงคะแนนจากมากไปน้อย ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม กรณีคะแนนเท่ากันทำให้มีเกิน 5 คนให้จับสลากกันเองในกลุ่มให้ครบจำนวน กรณีมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 5 คนให้เฉพาะผู้มีคะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก กลุ่มใดมีผู้สมัครไม่เกิน 5 คน ให้เป็นผู้ได้รับเลือกทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่ไม่มีผู้สมัครให้งดดำเนินการ

ลำดับที่ 2 แบ่งสายเลือกไขว้ได้ตัวผู้รับเลือก จากนั้นให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มจับสลากแบ่งสายไม่เกิน 4 สาย ให้มีจำนวนกลุ่มเท่ากันหรือใกล้เคียงมากที่สุด แต่ละสายไม่เกิน 5 กลุ่ม และต้องไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม แล้วให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน แต่ละคนเลือกได้กลุ่มละ 1 คน ห้ามเลือกในกลุ่มเดียวกันหรือตนเอง

นับคะแนนเรียงลำดับ ให้คนที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกของแต่ละอำเภอของกลุ่มนั้น ถ้าคะแนนเท่ากันทำให้เกินจำนวนให้จับสลาก ส่วนอำเภอใดมีผู้สมัครไม่เกิน 5 กลุ่มไม่ต้องแบ่งสาย ให้เลือกไขว้เลย

อำเภอในประเทศไทยมี 926 อำเภอ ได้ผู้รับเลือกระดับอำเภอจาก 20 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน เท่ากับมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสูงสุดไม่เกิน 55,680 คน

อ๊ายยยขายของ-7-1 ++เลือกไขว้ซํ้าระดับจังหวัด-ปท.
จากนั้นไปเลือกระดับจังหวัด โดยมีขั้นตอนทำนองเดียวกันคือ เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอของจังหวัดนั้น ๆ ให้เลือกกันเองในแต่ละกลุ่มได้ 2 คน โดยจะลงให้คนใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ สามารถลงให้ตนเองได้ แล้วเอาผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นระดับจังหวัดของแต่ละกลุ่ม

จากนั้นแบ่งสายเพื่อเลือกไขว้ ในทำนองเดียวกันคือ แบ่งไม่เกิน 4 สาย ให้มีจำนวนกลุ่มแต่ละสายใกล้เคียงกัน แต่ไม่เกินสายละ 5 กลุ่ม และไม่ตํ่ากว่า 3 กลุ่ม ถ้าจังหวัดใดมีผู้สมัครรับเลือกเป็นส.ว.ไม่เกิน 5 กลุ่มไม่ต้องเลือกไขว้ จากนั้นให้ผู้ได้รับเลือกเบื้องต้นแต่ละคนลงคะแนนเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกิน 1 คน จะเลือกตนเองหรือในกลุ่มเดียว กันไม่ได้ เอาผู้ได้คะแนนสูงสุดเพียง 2 อันดับแรกของแต่ละ กลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดของกลุ่มนั้น ถ้าคะแนนเท่ากันทำให้เกินจำนวน

ดังนั้น ทั้ง 77 จังหวัด มีผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดจาก 20 กลุ่ม กลุ่มละ 2 คน เท่ากับได้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดทั้งสิ้นไม่เกิน 3,080 คน

++ระดับชาติเลือกไขว้กลุ่มละ 5
ส่วนการเลือกระดับประเทศนั้นก็เช่นเดียวกัน แต่ในขั้นตอนเลือกผู้ได้รับเลือกเบื้องต้นกันเองในกลุ่มนั้น ให้เลือกได้ไม่เกิน 10 คน และเอาผู้มีคะแนนสูงสุด 40 คนแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือก คะแนนเท่ากันให้จับสลาก ถ้าไม่ครบ 40 คนแต่มีเกิน 20 คนขึ้นไปเอาเท่าที่มี ตํ่ากว่า 20 คน ให้จัดให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับเลือกที่ยังอยู่ลงคะแนนเลือกกันเองให้ได้ 20 คน

จากนั้นแบ่งสายในทำนองเดียวกัน ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน แต่ในระดับประเทศให้ลงคะแนนเลือกได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยจะเลือกตนเองหรือคนในกลุ่มเดียวกันไม่ได้ นับคะแนนแล้วส่งผลคะแนนให้คณะกรรมการเลือกระดับประเทศ(กกต.)

ให้รอไว้ 5 วัน เมื่อครบกำหนด ถ้ากรรมการเห็นว่าการเลือกถูกต้อง สุจริต เที่ยงธรรมแล้ว ให้ประกาศผลการเลือกจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ลำดับที่ 1-10 เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว.ของกลุ่มนั้น ๆ ส่วนลำดับที่ 11-15 เป็นบัญชีสำรอง

รวมมีผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว.จากการเลือกกันเองแบบไขว้ 200 คน มีวาระ 5 ปี

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ++ให้คสช.เลือก 50 คน
แต่สำหรับการเลือกครั้งแรกตามกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่า ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับของแต่ละกลุ่มในการเลือกไขว้ระดับประเทศ รวม 200 คน จะได้เป็นส.ว.ทันที เพราะมีบท เฉพาะกาลระบุว่า ในวาระเริ่มแรกให้มีส.ว. 250 คน มีที่มาจาก 3 แหล่งคือ

1.บัญชีว่าที่ส.ว. 200 รายชื่อ ส่งให้ คสช.เลือก 50 ชื่อ โดยต้องมีอย่างน้อยกลุ่มละ 1 คนจาก 20 กลุ่ม และรายชื่อสำรองอีก 50 คน

2.คสช.ตั้งกรรมการสรรหา 9-12 คน คัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถเป็นส.ว. 400 รายชื่อ ส่งให้คสช.พิจารณาคัดเลือกเหลือ 196 คน และมีบัญชีสำรอง 50 คน

3.ผู้ที่เป็นส.ว.โดยตำแหน่ง มี 6 คน คือ ปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชา การทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

รวมเป็นส.ว.ใหม่ชุดเริ่มแรก 250 คน ที่ต้องผ่านตะแกรงร่อนของคสช.ทั้งหมด และมีจำนวนเท่ากับครึ่งหนึ่งของส.ว.ที่มี 250 คน โดยส.ว.ใหม่มีอำนาจร่วมโหวตเห็นชอบการเสนอชื่อนายกฯ เพื่อเป็นกลไกช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกรอบ

**20กลุ่มผู้สมัครส.ว.
1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
3.กลุ่มการศึกษา
4.กลุ่มการสาธารณสุข
5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืช
6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้าง
8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค
9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม
10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9.
11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
13.กลุ่มอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
14.กลุ่มสตรี
15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์
16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม การแสดง บันเทิง
17.กลุ่มประชาสังคม
18.กลุ่มสื่อสารมวลชน
19.กลุ่มวิชาชีพอิสระ
20.กลุ่มอื่นๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9