สยามแก๊สฯเพิ่มนำเข้า LPG กางแผนปี 61เดือนละ 4 หมื่นตัน-ยอดใช้โตต่อเนื่อง

23 ธ.ค. 2560 | 03:41 น.
สยามแก๊ส เตรียมส่งแผนนำเข้าแอลพีจีปี 2561 เฉลี่ย 4 หมื่นตันต่อเดือน ชี้ความต้องการใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม-ภาคครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายแอลพีจีในต่างประเทศยังเติบโต 6-7% ตั้งเป้ายอดขาย 3.4-3.5 ล้านตัน จากปีนี้อยู่ที่ 3.2 ล้านตัน

นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในปี 2561 คาดว่ายังคงเติบโตขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะตลาดภูมิภาคเอเชียที่คาดว่าปริมาณการใช้แอลพีจีจะเติบโตขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศ ยังคงเติบโตจากกลุ่มอุตสาหกรรมภาคครัวเรือน และปิโตรเคมี ส่วนแอลพีจีภาครถยนต์คาดว่าจะทรงตัวจากปีนี้

[caption id="attachment_236949" align="aligncenter" width="335"] นางจินตณา กิ่งแก้ว นางจินตณา กิ่งแก้ว[/caption]

ขณะที่ทิศทางราคาแอลพีจีในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 500-600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบกับปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 484 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากราคานํ้ามันในปีหน้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาแอลพีจีในปีหน้าปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีในปี 2561 ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นคาดว่ายอดขายแอลพีจีของบริษัทในปี 2561 จะเติบโตอย่างน้อย 6-7% มาอยู่ที่ 3.4-3.5 ล้านตัน แต่หากตลาดขยายตัวมากขึ้นก็มีโอกาสเติบโตได้ถึง 10% เทียบกับปี 2560 บริษัทมียอดขายก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน

โดยยอดขายแอลพีจีที่เติบโตขึ้นของบริษัท แบ่งเป็นยอดขายในต่างประเทศคาดว่าจะเติบโต 6-7% มาอยู่ที่ 2-2.5 ล้านตัน ขณะที่ยอดขายในประเทศ คาดว่าจะเติบโต 5% มาอยู่ที่ 1.1-1.2 ล้านตัน สำหรับตลาดแอลพีจีในประเทศยังคงมาจากความต้องการใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมครัวเรือน และปิโตรเคมีเป็นหลัก ขณะที่ความต้องการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้นํ้ามันแทน

สำหรับเป้ารายได้ในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2560 อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท โดยมีปริมาณขายต่างประเทศและในประเทศอยู่ในสัดส่วน 65% และ 35% ตามลำดับ โดยปัจจุบันยอดขายแอลพีจีในประเทศไทยของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1 แสนตันต่อเดือน แบ่งเป็นยอดขายในภาคอุตสาหกรรม 20%, ภาคครัวเรือน 60% และภาคขนส่ง 20% ปัจจุบันสยามแก๊ส มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 25%

TP09-3324-1A นางจินตณา กล่าวอีกว่า ส่วนปริมาณนำเข้าแอลพีจีในปี 2561 บริษัทเตรียมยื่นแผนนำเข้าแอลพีจีไปยังกรมธุรกิจพลังงานในระดับ 4 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2560 แต่หากต้องการสูงขึ้น บริษัทก็สามารถขอนำเข้าเพิ่มขึ้นได้ ส่วนแอลพีจีที่บริษัทขายให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 2.2 หมื่นตัน เมื่อเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนำไปทดสอบระบบที่คลังแอลพีจีเขาบ่อยา จ.ชลบุรี พบว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเข้าใช้คลังแอลพีจีที่เขาบ่อยา ของ ปตท. คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆ นี้

สำหรับปี 2561 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1 พันล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีการขยายสถานีบริการก๊าซแอลพีจีในประเทศอีก 2-3 สาขา จากสิ้นปีนี้ที่มีจำนวน 45 สาขา นอกจากนี้บริษัทสั่งซื้อเรือขนส่งลำเล็ก ขนาดบรรทุก 3 พันตัน จากปัจจุบันมีเรือขนส่งทั้งหมด 25 ลำ ขณะเดียวกันบริษัทจะขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

“ทิศทางราคาแอลพีจีปี 2561 ปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีหน้าเพิ่มขึ้น 6-7% จากปี 2560 ส่วนใหญ่ยังคงมาจากการเติบโตในตลาดต่างประเทศ ในแถบเอเชียมียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายในประเทศ ปี 2561 คงไม่โตมากนัก โดยเฉพาะแอลพีจีภาคขนส่งที่ไปไม่รอด เพราะประชาชนหันไปใช้นํ้ามันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยังคงนโยบายลอยตัวราคาแอลพีจี จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ใดๆ” นางจินตณา กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9