‘พาณิชย์’ พร้อมเจรจา FTA ไทย-อียูอีกครั้ง

17 ธ.ค. 2560 | 07:25 น.
 

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศขานรับนโยบาย เตรียมความพร้อมเจรจา FTA ไทย-อียู หลังอียูประกาศฟื้นสัมพันธ์ไทย เน้นศึกษารอบคอบกับทุกภาคส่วน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ตามที่นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมการกรณีคณะมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ส่งสัญญาณพร้อมรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งหยุดชะงักตั้งแต่ปี 2557 นั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย และเป็นโอกาสดีที่จะสานต่อความสัมพันธ์เศรษฐกิจ ระหว่างไทยกับอียูให้ก้าวหน้าและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมเตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องหารือในเรื่องนี้

ช่วงที่การเจรจา FTA ไทย-อียูหยุดชะงัก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามพัฒนาการสำคัญของอียูมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการค้าและการลงทุนของอียู การจัดทำ FTA หรือข้อตกลงทางการค้าของอียูกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงกรณีที่อังกฤษขอแยกตัวออกจากอียู (Brexit) ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทย กรมฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจะเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหารือในเรื่องนี้ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และพิจารณาท่าทีของฝ่ายไทยอย่างรอบคอบและรอบด้าน

awm1

ทั้งในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของไทย เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาและการคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นต้น ซึ่งไทยต้องเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อให้การเจรจาที่จะเกิดขึ้นเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยคงจะต้องรอดูท่าทีของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าจะตอบสนองต่อข้อมติของคณะมนตรีการต่างประเทศของอียูอย่างไร ซึ่งกรมฯ กำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

การเจรจา FTA ไทย-อียูทั้ง 4 รอบที่ผ่านมาในช่วงปี 2556-2557 ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นที่แต่ละฝ่ายสนใจ ทั้งเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับการค้า เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายตัดสินใจที่จะกลับมาเจรจา ก็จะต้องพิจารณาว่าในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ไทยมีความพร้อมแค่ไหน อย่างไร ตลอดจนความสมดุลในภาพรวม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ซึ่งก็มีหลายเรื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยก็มีพัฒนาการที่ดี มีการปรับแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การปรับแก้ไข พรบ. การแข่งขันทางการค้า พรบ. เครื่องหมายการค้า และ พรบ. ศุลกากร เป็นต้น

 

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 นอกจากนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเตรียมความพร้อมหารือทวิภาคีกับอียูรายประเทศตามที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำชับมาตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) โดยจะเน้นการเจรจาเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพื่อขยายการค้าการลงทุน และเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย

สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2559 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 40,133 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปกว่า 22,044 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากสหภาพยุโรป 18,089 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนตุลาคมของปีนี้ การค้าระหว่างกันมีการขยายตัวถึง 9.60% การส่งออกของไทยขยายตัวกว่า 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9