เงินทุนต่างชาติไม่ทิ้งไทย

19 ธ.ค. 2560 | 04:52 น.
ตามคาด เฟดทิ้งทวน ขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ สภาพคล่องท่วมโลก มั่นใจต่างชาติ ไม่ขายหุ้นไทยออกอย่างมีนัยสำคัญ ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์คาดเอกชนแบกต้นทุนออกตรา สารหนี้เพิ่มขึ้น

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.05% ตามหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% นับเป็นครั้งที่ 3 ของปี 2560 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษยังไม่ขยับ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ นักวิเคราะห์และตลาดมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง

นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทยฯ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ เฟด ไม่น่าจะทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสภาพคล่องทั่วโลกยังมีอยู่มาก ประกอบกับตลาดรับรู้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตลอดและแนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในขาขึ้น นักลงทุนจึงปรับพอร์ตรองรับ และที่ผ่านมาอาจเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยและหุ้นเอเชียออกอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่ต้องจับตาหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยมากๆ อาจทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ขึ้นมาค่อนข้างแรงในปีนี้ถูกขายทำกำไรออกมา เนื่องจากนักลงทุนกลัวความเสี่ยงหรือไม่ ขณะเดียวกันเงินที่ขายหุ้นออกมาอาจไปพักในตราสารหนี้หรือโยกเข้าตลาดหุ้นที่ราคายังถูกเมื่อเทียบตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างตลาดหุ้นเอเชียก็เป็นไปได้ เพราะราคาไม่แพงและแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ เอเชียสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ”

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบล่าสุด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% พร้อมส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งในปี 2561 เช่นเดิม ไม่น่าจะส่งผลต่อเงินทุนไหลออก รวมทั้งผลต่อสภาพคล่องในตลาดการเงินไทย เนื่องจากตลาดได้รับรู้ข่าวสารไปมากแล้ว

TP15-3323-5 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และสหรัฐฯลดขนาดงบดุล มีผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจทยอยลดลง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น จะทำให้มีเงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.60% และ 2.75% ณ สิ้นปีไตรมาส 1 และสิ้นปี 2561 ตามลำดับจากปัจจุบันที่ 2.43% ทำให้ภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ต้องเผชิญต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง แต่อาจไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากนัก เนื่องจากนักลงทุนได้คาดการณ์ไว้บ้างแล้ว ดังนั้น ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปี 2561

ด้าน นางสาวศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนให้การตอบรับ กองทุน LTF-RMF ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.กรุงศรีฯ ส่งผลให้เงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 บริษัทมียอดเงินลงทุนใหม่รวมกว่า 10,479 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุน LTF กว่า 6,077 ล้านบาท และ RMF กว่า 4,402 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อกองทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทได้เป็นอย่างดี

ด้านตลาดหุ้นไทย วันที่ 15 ธันวาคม ดัชนีหุ้นปิดที่ระดับสูงสุดของวัน 1,717.69 จุด เพิ่มขึ้น 2.70 จุด ดีดขึ้นจากระหว่างวันลงตํ่าสุดที่ 1,709.16 จุดหรือรูดลง 5 จุดเศษ การปรับตัวลงของตลาด เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชีย อาทิ ดัชนีฮั่งเส็งลดลง 318.27 จุด หรือ 1.09% ปิดที่ 28,848.11 จุด เนื่องจาก นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี หลังจากนายมาร์โค รูบิโอ และนายไมค์ ลี 2 วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน ส่งสัญญาณว่าจะไม่ลงมติสนับสนุนร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับนี้ หากไม่มีการเพิ่มวงเงินในการลดหย่อนภาษีเพื่อการสังเคราะห์บุตร

สำหรับค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลให้ค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าสู่ระดับ 32.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และในปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 10.0% ซึ่งแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเงินวอนเกาหลีใต้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-5-503x62