เทรดวอตช์ | ปัจฉิมลิขิต

17 ธ.ค. 2560 | 14:04 น.
2050 2051

ปัจฉิมลิขิต | คอลัมน์ : เทรดวอตช์
โดย ดร.วีรชัย พลาศรัย ทูตไทยประจำสหประชาชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและกติกาการค้าโลก


หากพูดแบบจีน ก็ต้องบอกว่า ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา หากพูดแบบฝรั่ง ก็ต้องบอกว่า นี่เป็น ‘เพลงหงส์’ ของผมในคอลัมน์นี้แล้ว แต่พูดแบบไทย ๆ กันเอง ก็คือ เรามาถึงตอนอวสานแล้วครับ

กว่า 10 ปีแล้วนะครับ ที่ผมมาพบท่านผู้อ่านทุกเดือนด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ในวงการค้าระหว่างประเทศ ในแง่มุมกฎหมายและนโยบาย เวลาผ่านไป อะไร ๆ ก็วิวัฒนาการไป บัดนี้ ก็น่าจะถึงเวลาที่จะขยับขยาย เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นหลังเข้ามาแสดงความเห็นหรือวิสัยทัศน์กันบ้าง


logo_en

ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้เป็นโอกาสได้เล่าสู่กันฟัง และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเป็นไปในระบอบการค้าระหว่างประเทศ ออกจะเศร้าเล็กน้อยที่ต้องลาจากกันในจังหวะที่บรรยากาศของระบอบการค้าพหุภาคีไม่ค่อยสดใสเอาเลย การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่กรุงบูเอโนสไอเรส ดูไม่มีหวังที่จะสร้างความคืบหน้ามากนัก ท่าทางสมาชิกอาจตกลงกันได้แค่การจัดโครงสร้างการเจรจาต่อไปในปีหน้า ประเด็นต่าง ๆ บนโต๊ะดูจะค้างไว้ เว้นแค่เรื่องการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการค้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็คงเพราะดูดี และเป็นเรื่องสำคัญเรื่องเดียวที่พอพูดกันได้


15-3307

นอกจากการค้าพหุภาคีแล้ว การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ก็ออกจะซบเซาถ้าเทียบกับพลวัตหลายปีก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลง Trans-Pacific Partnership ซึ่งครอบคลุมมากกว่า 30% ของการค้าโลก แถมสหรัฐฯ ยังประกาศที่จะทบทวน NAFTA ซึ่งเป็นต้นแบบของเขตการค้าเสรี และความตกลงทวิภาคีกับประเทศอื่น อาทิ เกาหลีใต้ อีกแม้ประเทศอื่นจะยังคงเจรจา FTA กันต่อไป แต่ก็อดไม่ได้ที่ต้องบอกว่า FTA ในฐานะเครื่องมือทางนโยบาย ดูจะลดความน่าสนใจลง เมื่อต้นตำรับอย่างสหรัฐฯ เหินห่างไป ไม่ว่าจะเป็น FTA ระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับญี่ปุ่น ซึ่งก็ครอบคลุมเพียงแค่การค้าสินค้า หรือ FTA ระหว่าง EU กับแคนาดา ก็ล้วนเหมือนเป็นแค่พระรองกันไป ขณะที่ การเจรจา Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP นั้น ไม่ต้องพูดถึง ยังไม่เห็นฝั่งเลยครับ


tp10-3222-d-696x470

แม้แต่ EU ซึ่งมองในมุมหนึ่ง ก็พอถือได้ว่า เป็นเขตการค้าเสรีที่ประสบความสำเร็จที่สุด (ที่จริงเขาไปไกลกว่านั้นอีก) ยังเจอกับความท้าทายจากกรณี Brexit ทำให้หลายฝ่ายต้องทบทวนตัวเองหลายตลบทีเดียว แต่อย่างน้อยที่สุด Brexit ก็ทำให้เห็นถึง ‘คุณค่า’ ของการรวมตัวทางเศรษฐกิจได้ชัดขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย คงพูดได้ว่า ยังไม่มีใครอิจฉาสหราชอาณาจักร ที่ตัดสินใจออกจาก EU ซึ่งเฉพาะ ‘ค่าหย่า’ ก็ประเมินกันว่า ไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านปอนด์ แล้วครับ


วิทยุพลังงาน

สิ่งที่ผมขอฝากไว้ ก็คือ 1.ระบอบการค้าพหุภาคี ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกันเสถียรภาพและการคาดการณ์ล่วงหน้าได้ของการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้ WTO ตายไปเสียก่อน ถึงค่อยเห็นคุณค่า และจะต้องเสียแรง เสียทรัพยากรมหาศาล เพื่อฟื้นระบอบการค้าพหุภาคีขึ้นมาในภายหลัง

2.คือ เรายังควรให้โอกาสแก่ FTA ต่อไป ผมเชื่อว่า ความสนใจต่อการจัดทำ FTA อาจมีเพิ่มมากขึ้นในบ้านเราในไม่ช้า เมื่อ EU ปรับความสัมพันธ์กับไทยคืนสู่ระดับปกติ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ การเจรจา FTA กับ EU ซึ่งนักเจรจาต่างรอคอยมานาน น่าจะเป็นนโยบายลำดับต้น ๆ ของรัฐบาล โจทย์ใหญ่ ก็คือ จะทำให้ข้อห่วงกังวลของฝ่ายต่อต้าน FTA ลดลงได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า แม้การเปิดเสรีจะมีข้อเสีย แต่ข้อดีก็เยอะ ทำอย่างไรจะทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการค้าเสรีกระจายไปสู่คนส่วนใหญ่และประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของการค้าเสรี และที่สำคัญ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีจะได้รับการดูแลอย่างไร ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องเดิมที่หลายฝ่ายทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ภาคปฏิบัติยังไม่ค่อยบรรลุผลเท่าไรนัก


appuk-696x385

ผมรู้สึกเกียรติที่ได้มีโอกาสมาคุยกับท่านในพื้นที่นี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา รับรองครับว่า ไปแล้วจะไม่ไปลับ ผมก็จะยังคงติดตามพัฒนาการในเวทีการค้าระหว่างประเทศต่อไป และอาจจะได้พบกับท่านอีกในรูปแบบอื่น ตอนนี้ขึ้นปีใหม่ พักผ่อนกันก่อน ขอให้ทุกท่านมีความสุขมาก ๆ ครับ จนกว่าจะพบกันใหม่


——-
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17-20 ธ.ค. 2560 หน้า 06

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-5-503x62