51 บ่อทรายบึงกาฬระส่ำ สั่งปิด!15ราย กระทบธุรกิจก่อสร้างกว่าพันล้าน

17 ธ.ค. 2560 | 08:05 น.
วงการก่อสร้างเมืองบึงกาฬระสํ่าส่งท้ายปี หลังผู้ว่าฯสั่งปิด 15 บ่อทราย เผยเบื้องลึก สตง.สอบพบปมเรียกรับผลประโยชน์ แต่อ้างผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต จับตาผลกระทบขยายวงกว้างทั้งงานรัฐ-เอกชนและใกล้เคียง

แหล่งข่าววงการบ่อทรายจังหวัดบึงกาฬ รายหนึ่งเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดหนองคาย และสำนักงานที่ดินจังหวัดบึงกาฬ ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 ว่าตามที่ได้ตรวจสอบสืบสวนการดูดทรายในเขตตำบลดงบัง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีการขุดทรายและดูดทรายนอกเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ จนนำไปสู่การออกคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการดูดทรายลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 แม้ว่าช่วงก่อนนี้จะได้มีการเพิกถอนใบอนุญาตการดูดทรายเป็นบางรายไปแล้วก็ตาม

TP12-3323-1A ล่าสุดนั้นปรากฏว่ามีผู้ประกอบการบ่อทรายในพื้นที่อำเภอบึงโขงหลง ได้รับคำสั่งปิดจำนวน 15 บ่อจากทั้งสิ้นจำนวน 51 บ่อในเขตพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ แม้ว่าผู้ประกอบการจะขอเข้าพบเพื่อเจรจากับนายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าฯบึงกาฬไปแล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ อีกทั้งยังมีคำสั่งมาตรา 44 ห้ามมิให้ผู้ประกอบการชุมนุมเรียกร้องกรณีได้รับผลกระทบจากการปิดบ่อทรายในครั้งนี้อีกด้วย

ประการสำคัญผู้ว่าฯบึงกาฬยังเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดตั้งแต่คํ่ายันสว่าง เพื่อหาความชัดเจนปมปัญหาที่สตง.ชี้ปมความผิดในครั้งนี้ โดยเฉพาะข้ออ้างกรณีการเรียกรับเงินผู้ประกอบการนั้น ทั้งที่ในการดำเนินการขอรับใบอนุญาตผู้ประกอบการก็ได้ยื่นเอกสารและชำระเงินกันอย่างถูกต้องตามขั้นตอน แต่กลับมาโดนคำสั่งปิดบ่อทราย

TP12-3323-3A “กรณีปมความผิดดูดทรายใกล้กับเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่นํ้าโขงระยะห่างน้อยกว่า 1,000 เมตรที่อาจทำให้เขื่อนป้องกันตลิ่งเสียหายนั้น ได้รับคำสั่งปิดไปแล้วจำนวน 10 บ่อ ล่าสุดโดนคำสั่งปิดเพิ่มอีก 4-5 บ่อ โดยอ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 119 เกี่ยวกับการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแม่นํ้าลำคลอง ทั้งๆ ที่ไม่เคยนำระเบียบกฎหมายข้อนี้มาใช้ปฏิบัติ ทำให้มองไปได้ว่าน่าจะมีการตั้งธงเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อต้องการล้างไพ่การขออนุญาตบ่อทรายในพื้นที่เพื่อเปิดให้มีการยื่นขอรอบใหม่ ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการได้ยื่นขออนุญาตและชำระเงินตามขั้นตอนครบถ้วนถูกต้องทั้งหมดแล้ว”

TP12-3323-2A แหล่งข่าวกล่าวอีกว่ายังมีปมชวนให้สงสัยสำหรับผลกระทบในครั้งนี้ที่จะเกิดขึ้นกับอีกหลายโครงการโดยเฉพาะการสร้างเขื่อน 4-5 แห่งที่กระทรวงมหาดไทยควบคุมดูแลจะขาดทรายไปใช้งาน หรืออาจเกิดการทิ้งงานของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจนเกิดผลต่อความล่าช้าของโครงการเกิดขึ้นทั้งงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ประการสำคัญกรณีที่สตง.ชี้มูลความผิดดังกล่าวอาจมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องรับผลประโยชน์จึงเป็นเหตุให้ผู้ว่าฯต้องเรียกหน่วยเกี่ยวข้องเพื่อเคลียร์ความชัดเจนตั้งแต่ช่วงคํ่ายันสว่างไปเมื่อวันก่อน

“เป็นการทำบ่อทรายติดกับตลิ่งและยังมีพื้นที่ในนํ้าที่ได้รับอนุญาตตามสัมปทานอีก 2 ไร่ครึ่งนั่นคือยังประกอบการอยู่ในพื้นที่สัมปทาน นอกจากนั้นเมื่อมีเขื่อนป้องกันตลิ่งเกิดขึ้นยังส่งผลกระทบอีกหลายบ่อในภายหลังเนื่องจากระยะห่างตลิ่งน้อยกว่า 1,000 เมตรทั้งๆที่ได้รับอนุญาตและเปิดดำเนินการมานานแล้วแต่เขื่อนเพิ่งมาสร้างขึ้นในภายหลัง ท้ายที่สุดต้องโดนคำสั่งปิดในที่สุด เบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่าความเสียหายแล้วกว่าพันล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายใช้ทรายผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องความเป็นธรรมไปยังภาครัฐและควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่องานภาครัฐโดยเร็วต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-5-503x62