อมตะฯปั้น‘SmartCity’ เสริมเขี้ยวเล็บการผลิตในอีอีซี

20 ธ.ค. 2560 | 05:13 น.
วิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (CEO) บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จของนิคมอุตสาหกรรมในเครืออมตะที่มีอยู่ 3 แห่งในประเทศไทย และ 2 แห่งในเวียดนาม ในงาน MFA CEO Forum จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเมื่อเร็วๆนี้ โดยวิกรมชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้นอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการค้า-การลงทุนของภูมิภาคอาเซียนเข้ากับตลาดโลก รวมทั้งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง “จีน” และมีความจำเป็นที่อุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะต้องผันตัวเองไปสู่การเป็น Smart City ที่นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

[caption id="attachment_242796" align="aligncenter" width="503"] วิกรม กรมดิษฐ์ วิกรม กรมดิษฐ์[/caption]

++Smart City เพิ่มสมรรถนะ
วิกรมเปิดประเด็นว่า การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรจึงจะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความสมดุลว่า ทำอย่างไรการเติบโตนั้นจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมกระทั่งกลายเป็นปัญหาใหญ่เหมือนกับที่จีนกำลังเผชิญอยู่ การดำเนินธุรกิจของอมตะคำนึงถึงการเจริญเติบโตและความก้าวหน้า แต่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานคุณภาพและการบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันจึงเป็นฐานการผลิตที่ใช้ระบบ Zero Waste Discharge ในอนาคต นิคมอุตสาหกรรมของอมตะยังมองไปถึงการมุ่งหน้าสู่การเป็น Smart City ที่นำนวัตกรรมมาปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกๆด้าน ทำให้อมตะนครเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่มีความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เหมือนกับชื่อ “อมตะ” หรือ eternity ที่แปลว่า ไม่มีที่สิ้นสุด

วิทยุพลังงาน “ในอดีตเราอาจพูดถึงขีดความสามารถในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันและอนาคตเป็นเรื่องของ Smart City เป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน อมตะเองเริ่มดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 1989 ในวันนี้มี 1,300 โรงงานอยู่ในพื้นที่ราว 200 ตารางกิโลเมตร มีคนงานกว่า 320,000 คน และมีส่วนในการสร้างจีดีพี 10% ให้กับประเทศไทย” วิกรมเผยว่า อมตะกำลังเปลี่ยนโฉมตัวเองจากนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่การเป็น Smart City ที่มีองค์ประกอบใหม่ๆ (ดังชาร์ตประกอบ) นั่นหมายถึงการนำระบบอัจฉริยะมาใช้ โดยความร่วมมือกับมหานครโยโกฮามา (Yokohama City) ที่จะส่งทีมงานเข้ามาประจำที่นี่จนถึงกลางปีหน้า เพื่อปรับปรุง-ติดตั้งระบบทุกอย่างให้นิคมฯอมตะนครเป็น Smart City อย่างแท้จริง

“ราคาที่ดินในไทยสูงมาก เราใช้กลยุทธ์ปรับปรุงฐานการผลิตที่มีอยู่ให้ทันสมัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยไม่ต้องจัดตั้งพื้นที่นิคมแห่งใหม่” โรงงานต้นแบบ “Smart Factory” แห่งแรกที่กำลังจะเปิดตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ เป็นความร่วมมือระหว่างอมตะนครกับฮิตาชิ ในการปรับเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานในทุกๆด้าน เช่น ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงาน เพิ่มคุณภาพผลผลิต ฯลฯ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสจากจุดแข็งของแหล่งผลิตในต่างประเทศ อมตะ จึงมีแผนขยายเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรมไปในประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV ด้วยโดยจะมีที่เมียนมาอีก 1 แห่งสปป.ลาว 1แห่ง และเวียดนาม 1แห่ง(เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 แห่ง) เนื่องจากอยู่ในอาเซียนด้วยกันและใกล้ตลาดใหญ่อย่างจีน

TP11-3323-1A ++จุดแข็งของอีอีซี
รัฐบาลตั้งงบประมาณสำหรับโครงการอีอีซี 1.5 ล้านล้านบาทในระยะ 5 ปี วิกรมชี้ว่า จุดที่น่าสนใจคือเราจะเชื่อมโยงโครงการ 1.5 ล้านล้านบาทนี้เข้ากับโครงการ One Belt One Road (OBOR)หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีนที่มีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้อย่างไร “3 จังหวัดในโครงการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง พื้นที่รวมกัน 13,500 ตารางกิโลเมตร นับว่าใหญ่พอสมควรและใหญ่เพียงพอให้เราใช้ประโยชน์ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ถ้าเราลองเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซีกับเครือข่ายรถไฟสินค้าที่มาจากจีน จะเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจขนาดมหาศาล

ปัจจุบันเรามีเส้นทางโลจิสติกส์ทางบกจากคุนหมิงผ่านลาว มายังท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้ว แต่ในอนาคตถ้ามีระบบรางเข้ามาก็จะช่วยย่นระยะทางและเวลาได้มากขึ้น” วิกรมกล่าวว่า อีอีซีมีจุดแข็งในแง่การขนส่งคมนาคมทั้งทางบก เรือ และอากาศ ยกตัวอย่างจากสนามบินอู่ตะเภา สามารถใช้เวลาไปยังทุกประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ อย่างแผ่นดินไหวหรือพายุไต้ฝุ่น อีกทั้งยังมีจุดแข็งในแง่การเป็นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับภูมิภาค ซึ่งหากในอนาคตจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไทยก็สามารถพัฒนาต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบที่มีอยู่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-5-503x62