คลังหั่นภาษีควบแบงก์ ผุด Champion Bank เพิ่มไซซ์ลุยต่างแดน

20 ธ.ค. 2560 | 06:05 น.
“อภิศักดิ์” หนุนแบงก์ไทยควบรวมกิจการเป็น Champion Bank สู้ศึกธนาคารต่างชาติ ชิงเค้กธุรกิจต่างแดน ชูมาตรการลดหย่อนภาษีอุ้มค่าใช้จ่ายควบรวมกิจการ ลั่นธปท.ไม่ขัดข้อง รอสรรพากรจัดแพ็กเกจดึงดูด พร้อมแนะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ธุรกิจทุกวงการควรปรับตัว-คิดก้าวข้ามเป็นผู้นำอย่าแค่เดินตามก่อนถูกทิ้ง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “Thailand Smart Money Bangkok 2017” ว่าคลังกำลังพิจารณาแนวคิดส่งเสริมสถาบันการเงินให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเป็น Champion Bank เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับตลาดต่างประเทศได้ แม้ว่าธนาคารไทยจะแข็งแรงมากขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งในปี 2540 เพราะถ้าดูหลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ในต่างประเทศ จะเห็นว่าธนาคารไทยไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำกับดูแลอย่างเข้มงวดและธนาคารไทยมีประสบการณ์และปรับตัวรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

[caption id="attachment_242665" align="aligncenter" width="334"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[/caption]

อย่างไรก็ตามนอกจากความแข็งแรง คลังอยากเห็นธนาคารไทยจะสามารถทำอะไรที่เป็นผู้นำหรือเป็น Lead ได้ไหม เพราะหากธนาคารไทยออกไปข้างนอกจะกลายเป็นคนตัวเล็กหรือแบงก์ขนาดเล็ก แต่ข้างนอกหรือธนาคารต่างชาติจะเป็นคนตัวยักษ์ ทำให้ธนาคารไทยเลือกที่จะแข่งขันกันภายในประเทศ โดยแย่งชิงเค้กก้อนเดียวกัน ซึ่งแตกต่างกับประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมนโยบายให้ธนาคารต้องออกไปหาตลาดหรือชิงเค้กจากนอกประเทศ

จากภาพรวมและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คลังจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ธนาคารไทยนอกจากความแข็งแกร่งแล้ว จะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยรูปแบบอาจจะเป็นการควบรวมกิจการ หรือการซื้อกิจการ ซึ่งไม่ได้บังคับ แต่จะต้องเป็นสถาบันการเงินในประเทศ

อย่างไรก็ดีการควบรวมกิจการหรือการทำให้ธนาคารใหญ่นั้น จะต้องมีเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการ เพราะมีธุรกิจที่จะต้องทับซ้อนกัน และมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจเดียวกัน ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้หลายคนไม่สนใจที่จะควบรวม

ดังนั้นคลังจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกิดการควบรวม โดยการให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจ (Incentive) ผ่านมาตรการภาษี อาจจะนำมาหักจากค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการควบรวมกิจการ ซึ่งคิดมาแล้ว 2 ปี และได้มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ซึ่งธปท.ไม่ได้ขัดข้อง แต่อาจจะมีเรื่องของการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ที่จะต้องดำรงตามระเบียบกฎเกณฑ์ อย่างไรก็ดีปัญหาไม่ได้อยู่ที่ธปท.และกระทรวงการคลัง แต่อยู่ที่กรมสรรพากรจะสามารถจัดสรรแพ็กเกจหรือสิทธิประโยชน์อะไรเพื่อจูงใจให้กับธนาคารไทยสนใจในแนวคิดนี้ได้หรือไม่

“แนวคิดนี้คิดมานานแล้วสัก 2 ปี เพราะต้องการให้แบงก์ไทยสามารถสู้กับแบงก์ต่างชาติได้ เพราะถ้าย้อนไป 10 ปีก่อน แบงก์ไทยใหญ่กว่าแบงก์ในภูมิภาค แต่ปัจจุบันธนาคารเหล่านั้นใหญ่กว่าไทยแล้ว 2-3 เท่า และปัจจุบันจะเห็นว่าบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความต้องการทางด้านการเงิน แต่ไม่สามารถกู้กับธนาคารไทยได้ เนื่องจากฐานเงินทุนไม่ใหญ่พอ ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องหันไปกู้กับธนาคารต่างชาติ ดังนั้นหากเราสามารถทำให้ธนาคารไทยใหญ่ขึ้นจะเป็นผลต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติ ซึ่งนโยบายเหล่านี้ในไม่ช้าน่าจะเกิดขึ้นได้”

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-1 นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ทุกอย่างอยู่บนอนาล็อก แต่ปัจจุบันทุกอย่างกำลังอยู่บน AI ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นไม่เฉพาะแค่วงการเดียว เช่น ค้าปลีก ที่ทุกอย่างไปซื้อบนออนไลน์ และเทรนด์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวหรือมีนโยบายปรับสินค้าจะไม่รอด

ทางด้านการเงินก็เช่นกันที่จะเจอการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด แต่จะเห็นว่าภาคการเงินมีการเตรียมตัวดี ซึ่งพูดถึง Internet Banking หรือ Mobile Banking แต่ทุกอย่างไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกเวลาที่จะทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ต้องปรับตัวเช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่จะทำให้ตัวกลางอย่างธนาคารหายไปได้ ซึ่งหลายธนาคารรับทราบและเตรียมตัวรับมือ เพราะถ้าคนไม่พร้อมและไม่เตรียมตัว จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

อย่างไรก็ดี รัฐบาล กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้หลายเรื่อง ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 เช่น บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (Promptpay) ที่จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เก่งกว่าอย่างสิงคโปร์ ได้นำรูปแบบนี้ไปทำ ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยมีหลายคนตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยด้านบัญชี แต่ทุกอย่างเดินไปได้จนมาถึงโครงการต่อเนื่องอย่าง QR Code จะเห็นว่ารัฐบาลวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นไปทุกเรื่องในเรื่องที่จำเป็น อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องคิดและปรับตัวให้ทัน และการคิดและนำคนอื่นไป หรือคิดแล้วก้าวข้ามคนอื่นได้จะเป็นผู้นำ แต่หากคิดและเดินตาม จะกลายเป็นผู้ตามตลอดไป

ส่วนกรณีบิตคอยน์ ถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกสนใจ เพราะเปรียบเหมือนสินค้าอย่างหนึ่ง แต่ราคาค่อนข้างสวิงขึ้นและลงเร็ว ส่วนไทย ธปท.ยังไม่ได้รับรองเหมือนหลายๆประเทศ แต่ก็มีบางประเทศที่รับรองการซื้อขาย หรือเปิดซื้อขายเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ธปท.ได้ศึกษาว่ามีอันตรายกับเศรษฐกิจหรือไม่ หากต้องการลงทุนให้หันมาลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ในงาน “Thailand Smart Money Bangkok 2017” ที่มีสถาบันการเงินและการลงทุนชั้นนำมาร่วมออกงานที่เสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ทั้งเงินฝาก เงินกู้ การลงทุน การลดหย่อนภาษี ภายใต้แนวคิด “Smart Transition…การเชื่อมต่อพลังทางการเงิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9