ลีสซิ่งปีหน้าเลิกแข่งดอกลุยออนไลน์

17 ธ.ค. 2560 | 23:46 น.
กรุงศรีออโต้ ชี้ตลาดรถยนต์หยุดแข่งเรื่องดอกเบี้ยตํ่าติดดิน เห็นทุกค่ายเบนเข็มแข่งด้านดิจิตอล-ดึง Big Data วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าตรงจุด ช่วยลดเสี่ยงหนี้เสีย-ต้นทุนลด ลั่นปีหน้าทุกค่ายพร้อมเปิดศึก Digital Lending

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เปิดเผยว่า การแข่งขันในตลาดรถยนต์และสินเชื่อยานยนต์ปี 2561 การแข่งขันจะยังคงรุนแรงอยู่ แต่จะเป็นในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคา หรือการเสนออัตราดอกเบี้ยตํ่า หลังจากแข่งขันกันรุนแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการเงินปัจจุบันจะเห็นว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

[caption id="attachment_143370" align="aligncenter" width="503"] ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)[/caption]

ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป แม้ว่าที่ผ่านมาการแข่งขันด้านราคาจะรุนแรงมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีงานมหกรรมจะเห็นอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ลดลงไปแตะตํ่ากว่า 2% ต่อปี เมื่อเทียบในช่วงปกติดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 2.25-2.35% ต่อปี และเมื่อเทียบกับปีก่อนที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.6% ถือว่าลดลงต่อเนื่องดังนั้น ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ต้องปรับตัวในการหารายได้มาชดเชย ซึ่งเทคโนโลยี ถือเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวและช่วยลดต้นทุนได้

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทในการปรับตัวของตลาดรถยนต์และสถาบันการเงินมากขึ้น จะมีอยู่ 3 เทรนด์หลัก โดยเทรนด์แรกจะเป็นเรื่องของ Digital Lending ซึ่งหลายค่ายเริ่มเตรียมตัวมาก่อนหน้านี้ในการลงทุนและวางแพลตฟอร์ม และในปี 2561 จะเริ่มเข้ามาเข้มข้นเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ดิจิตอลแพลตฟอร์มแข็งแรง และอำนวยความสะดวกลูกค้ามากขึ้น

MP24-3323-B กรุงศรีออโต้ เริ่มทำมาแล้ว 2-3 ปี จะเห็นว่ามีสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเติบโตปีละ 170% มียอดคงค้างอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 600 ล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันยอดสินเชื่อผ่านออนไลน์จะคิดเป็น 1% ของยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่แต่ละปี แต่เชื่อว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามโครงสร้างพื้นฐานและแรงสนับสนุนจากภาครัฐ

ส่วนเทรนด์ที่ 2 จะเป็นเรื่องการเจาะลึกถึงพฤติ กรรมลูกค้าที่จะนำ Big Data มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้ถูกต้องและแม่นยำ ช่วยลดความเสี่ยงจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้บริษัทมีเอ็นพีแอลตํ่าอยู่ที่ 1.6% เนื่องจากปล่อยได้ถูกคน ถูกจังหวะ และค่างวดสอดคล้องกับความสามารถการผ่อนชำระ และเทรนด์สุดท้ายจะเป็นเรื่องของการจับมือพันธมิตร การจับมือพันธมิตรที่นอกเหนืออุตสาหกรรม ถือเป็นสิ่งจำเป็นในระยะข้างหน้า เช่น การจับมือกับอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซเพราะจะเป็นเทคโนโลยีที่จะเคลื่อน ไหวตามลูกค้าได้ทันเป็นต้น

“การแข่งขันปีหน้าเรื่องของราคาและดอกเบี้ยจะถูกมองข้ามไป หรือตกเทรนด์ไปแล้ว ทุกค่ายทุกสถาบันจะกลับมาแข่งขันเรื่องของดิจิตอล เทคโนโลยี และการจับมือกับพันธมิตรที่เป็นเทคโนโลยี รวมถึงการใช้ Big Data เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้า และเข้ามาดูวิเคราะห์ลูกค้าได้ถูกต้องมากขึ้นโดยเราจะให้ฟินโนเวตมาช่วยให้ธนาคารขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น แต่ถ้ากฎหมายทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ผ่านจะยิ่งช่วยสนับสนุน”

สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์และสินเชื่อยานยนต์ปี 2561 คาดว่าการเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ โดยในปี 2560 ถือว่าเป็นปีที่เข้าสู่หมวดการเติบโตทุกเซ็กเมนต์นับตั้งแต่ปี 2555-2556 ทั้งในส่วนของรถยนต์ใหม่ที่ยอดขายรถยนต์น่าจะจบที่ 8.5 แสนคัน หรือเติบโต 10%

ส่วนรถมือ 2 อยู่ที่ 1.42 ล้านคัน เติบโต 6-7% จะเห็นว่าราคารถมือ2 เริ่มกลับมาสมดุลภายหลังจากราคาลดลงไป 15-25% และรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 1.8 ล้านคัน เติบโต 4% มาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้น และราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น

ขณะที่ยอดสินเชื่อเช่าซื้อน่าจะจบที่ระดับ 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 8% โดยในส่วนของกรุงศรีออโต้ คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5 แสนล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 3.07 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9