'SMEs' กับบัญชีเดียว

17 ธ.ค. 2560 | 08:40 น.
TP13-3323-1B ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง รวมทั้งธนาคารต่างๆ วางมาตรการเพื่อผลักดันให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าสู่ระบบการจดทะเบียนและมีบัญชีเดียวมากขึ้น กระทรวงการคลังถึงขั้นกำหนดที่จะลงไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องบัญชีเดียว นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจต่างๆ ผ่านมาตรการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าสำหรับ SME ที่จดทะเบียนบัญชีเดียว การฝึกอบรมเพื่อเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว หรือการสนับสนุนทางด้านค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชีรายปีให้กับ SMEs ที่สมัครใจเข้าสู่ระบบ และที่ผ่านมาดูเหมือนจำนวน SMEs ที่เข้าสู่ระบบบัญชีเดียวยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวน SMEs หลายล้านรายที่รัฐส่งงบประมาณลงไปช่วยเหลือในแต่ละปี จนกระทั่งกระทรวงการคลังถึงกับเอ่ยปากที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อให้เข้าระบบ

การที่หลายฝ่ายพยายามจัดระเบียบและสร้างแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้ SMEs มีบัญชีเดียว ก็เพื่อประโยชน์สำหรับ SMEs เอง เปรียบง่ายๆ กับร่างกายเรา การมีบัญชีที่ดีและถูกระบบนั้นจะเป็นเครื่องตรวจวัดสุขภาพร่างกาย การตรวจเช็กอุณหภูมิของธุรกิจว่าเป็นอย่างไร มีไข้ ป่วย มีเชื้อโรคอะไร หรือสุขภาพทางธุรกิจยังแข็งแรง ยังมีภูมิคุ้มกันที่ดีหรือไม่ และมีความพร้อมกับการก้าวเดินหรือวิ่งแค่ไหน หากจะต้องซ่อมแซม ฟื้นฟู หรือบำรุงกำลังต้องเติมอะไรเข้าไปตรงไหน ซึ่งหมอก็จะเลือกยา เลือกวิธีการดูแลบำรุง ดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญ สถาบันการเงินก็ยินดีและพร้อมปล่อยกู้

ถ้าหากธุรกิจมีระบบการจัดการที่ดีหรือมีบัญชีที่บันทึกการเคลื่อนไหวของธุรกิจ รายได้ ยอดขาย รายจ่าย ต้นทุนการขาย เงินสดสำรอง สภาพคล่อง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และกำไร ขาดทุน ซึ่งก็คือ ตัวชี้วัดสุขภาพทางธุรกิจ หากการทำกำไรหรือการขยายตัวธุรกิจไม่ค่อยดี ก็สามารถดูได้จากตัวเลขที่อาจผิดปกติ ก็จะทำให้เราทราบถึงจุดที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริง ทำให้แก้ไขได้ถูกจุด เรียกว่าใช้ยาให้เหมาะสมกับโรค ในจำนวนและขนาดที่พอดี และสถาบันการเงินก็สามารถวิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อง่ายและเร็วขึ้น

บาร์ไลน์ฐาน ที่ผ่านมา เนื่องจากระบบการจัดการข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์และ SMEs ที่ไม่มีระบบบัญชีที่ดี ทำให้มาตรการของรัฐที่ลงไปอาจเป็นการกระจายแบบกว้าง ๆ ไม่เฉพาะเจาะจง และ SMEs หลายรายอาจพบว่ามาตรการนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ตรงจุด เหมือนรู้ว่าป่วยไข้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร สาเหตุมาจากอะไร ก็เลยใช้แอสไพริน ถ้าว่ากันแบบบ้าน ๆ เรียกว่า “เกาไม่ถูกที่คัน” ทำให้ปัญหาของ SMEs ที่ยุ่งยากอยู่แล้วยิ่งแก้ยากเข้าไปอีก ทำให้มาตรการลงไปที่ผ่านมานั้น แม้ว่าอาจจะดีแต่ก็อาจส่งผลได้ไม่เต็มที่ตามที่หวังไว้

คราวนี้ นโยบายต่าง ๆ ของรัฐที่ออกมาเพื่อผลักดันให้ SMEs เข้าสู่ระบบและมีบัญชีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การขึ้นทะเบียน SMEs และเก็บข้อมูลของ SMEs ทุกราย หรือให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าดูการเปลี่ยน แปลง การพัฒนา ทำให้สามารถคัดสรรมาตรการที่เหมาะสมให้กับ SMEs แต่ละรายได้ หรือที่ปรึกษาก็สามารถรู้และแนะนำได้ถูกต้องว่า SMEs แต่ละรายนั้นควรจะได้รับการอบรม ส่งเสริม ช่วยเหลือเรื่องอะไร ทำให้จุดที่คันได้รับการเกา ซึ่งปีนี้ โครงการด้าน SMEs Big Data ที่จะทำการรวบรวมและเชื่อมข้อมูลการให้บริการ โครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐ ต่อ SMEs แต่ละราย ดูว่าที่ผ่านมา SMEs รายนี้ได้รับการอบรมเรื่องอะไรมาแล้ว เข้าโครงการอะไรมาแล้ว กับหน่วยงานไหนบ้าง และสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเขาควรรับการดูแลเรื่องอะไรต่อ

นอกจากนี้ ยังสามารถส่งต่อลูกค้ากันง่ายขึ้นระหว่างหน่วยงาน ทำให้ดูแล ช่วยเหลือได้ตรงจุดกับความต้องการของ SMEs แต่ละรายมากกว่าแต่ก่อน และตอนนี้มี SMEs ONE portal ที่เป็นตลาดบริการและความรู้ให้กับ SMEs โดยในเว็บนี้จะรวบรวม link ต่างๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้บริการ e-learning หรือโครงการอบรม หรือให้บริการ รวมทั้ง application ที่เกี่ยวกับการบริหารงานของ SMEs สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ เช่น application บัญชีแบบง่ายๆ หรือการบริหารสินค้าคงคลัง ฯลฯ

หวังว่าความพร้อมของทุกภาคส่วนทั้งจากตัว SMEs เองและของรัฐเอง จะทำให้การกำหนดนโยบายสามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด และ SMEs ต้องบอกจุดที่มีอาการคันให้ชัดเจน ผ่านการมีระบบการบริหารที่ชัดเจน โปร่งใส และการเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9