เมียนมาปรับปรุงกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ ชวนต่างชาติเข้าไปลงทุน (1)

18 ธ.ค. 2560 | 23:05 น.
TP10-3323-2B เมียนมา หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ทั้งตามแนวชายแดนและการค้าระหว่างภาคธุรกิจของ 2 ประเทศ ซึ่งข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศ ปี 2559 ระบุว่า การค้าระหว่างไทยกับเมียนมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 6,532.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย เมียนมา เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดอาเซียน รองจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ตามลำดับ และนับ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลเมียนมาได้ปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้เมียนมาก้าวเข้ามาร่วมในตลาดโลก แต่ยังช่วยให้สินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งจากประเทศ อื่นๆ รวมถึงไทย เข้าไปในตลาดให้ชาวเมียนมาได้รู้จักมากขึ้น

ปัจจุบัน เมียนมามีนโยบาย เปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนมากขึ้น โดยได้ปรับปรุงกฎหมายการลงทุนฉบับเดิมให้ทันสมัย เพื่อสอดรับกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเมียนมาได้ออกกฎหมายด้านการลงทุนจากต่างชาติฉบับใหม่ ในชื่อ “กฎหมายการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Law - MIL)” มาใช้แทนกฎหมายฉบับเดิม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างการจ้างงานให้เกิดขึ้นภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การลดความยากจนและมุ่งพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ตามกฎหมายการลงทุนจากต่างชาติฉบับใหม่ที่ประกาศใช้นั้น ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (Myanmar Investment Commission - MIC)” โดยจะมีหน้าที่หลักคือ การประสานงานระหว่างผู้ลงทุนกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง การออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ลงทุนที่ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการฯ รวมทั้งหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนในเมียนมา

TP10-3323-1B กฎหมายการลงทุนของเมียนมา (MIL) ฉบับใหม่นี้ รัฐบาลได้ประกาศประเภทของอุตสาหกรรมที่ต้องการเน้นการลงทุน ได้แก่ การเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ การประมง การผลิต การสร้างเขตอุตสาหกรรม การสร้างเมืองใหม่ (New urban areas) การพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งและบริการ ด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม การศึกษา บริการด้านสาธารณสุข บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงแรมและการท่องเที่ยว และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และรัฐบาลเมียนมามีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด และจะยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพื้นที่ของการลงทุน โดยแบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขต 1 เขตการลงทุนที่พัฒนาน้อยที่สุด (เช่น เมืองมิตจีนา พะโม และปูตาโอ ในรัฐคะฉิ่น (Kachin State) เป็นต้น) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน เขต 2 เขตการลงทุนที่พัฒนาปานกลาง (เช่น เมืองชเวโบ และโมนยวา ในเขตสะกาย (Sagaing) เป็นต้น) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน และสำหรับ เขต 3 เขตการลงทุนที่พัฒนาแล้ว (เช่น เมืองมัณฑะเลย์ เมะทีลา และยะแมสิน ในรัฐมัณฑะเลย์ เป็นต้น) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ตามลำดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบจากรัฐบาลด้วย

จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย ที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในหลายๆ อุตสาหกรรมที่รัฐบาลเมียนมาสนับสนุน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษากฎหมายการลงทุนจากต่างชาติฉบับใหม่ของเมียนมา ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Tilleke & Gibbins ได้ทำการแปลเป็นภาษาไทยไว้ ได้ที่ http://www.thaibizmyanmar.com/th/economy/trade-investment.php

สำหรับบทความตอนถัดไป ในหัวข้อเรื่อง “เมียนมาปรับ ปรุงกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ชวนต่างชาติเข้าไปลงทุน (ตอนจบ)” ซึ่งศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศจะวิเคราะห์ ประเด็นกฎระเบียบสำคัญที่ผู้ลงทุนต่างชาติต้องปฏิบัติตามให้ท่านผู้อ่านได้ทราบต่อไป

พบกับอัพเดตความเคลื่อน ไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศ ที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9