ไทยหล่นเบอร์4ผลิตกุ้งโลก เวียดนาม-อินเดียสปีดแซงหน้า-ลุ้นถกFTAทวงคืนตลาดอียู

20 ธ.ค. 2560 | 05:07 น.
ตลาดกุ้งโลกฟัดเดือด เวียดนามชิงจังหวะ 5 ปีโรคตายด่วน เร่งสปีดเพิ่มผลผลิต เบียดไทยผงาดฮับส่งออก เล็งอีก 8 ปีทะลุ 1 หมื่นล้านดอลล์ สมาคมกุ้งไทยเล็งผลิต-ส่งออกกุ้งไทยปีหน้าโตได้ 10% ลุ้นรัฐเตรียมพร้อมฟื้นถกเอฟทีเอกับอียูทวงคืนตลาดใหญ่

ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า จากที่ประ เทศไทยได้ประสบปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ในกุ้งช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นโอกาสให้เวียดนามได้เร่งพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งโดยศึกษารูปแบบจากประเทศ ไทย ส่งผลให้พื้นที่เลี้ยงกุ้งของเวียดนาม ณ ปัจจุบันมีมากถึง 1.2 ล้านไร่ และล่าสุดรัฐบาลเวียดนามประกาศจะขยายพื้นที่เลี้ยงอีก 1 ล้านไร่โดยสนับสนุนให้ชาวนาในปากแม่นํ้าโขงปรับเปลี่ยนจากการทำนามาเลี้ยงกุ้งเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ช่วงที่เรามีโรคอีเอ็มเอสเป็นโอกาสให้เวียดนามขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้ง และสามารถแย่งฮับส่งออกกุ้งจากไทยไปได้สำเร็จ จะเห็นว่าเมื่อก่อนผู้นำเข้าจะมาเจรจากับไทย แต่เวลานี้เวียดนามจะมีศักยภาพมากกว่า เพราะมีสินค้าสามารถตอบสนองความต้องการได้ ซึ่งปัจจุบันการส่งออกสินค้าประมงของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่รัฐบาลเขาได้ตั้งเป้าหมายในปี 2568 จะส่งออกได้ที่ระดับ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือกว่า 3 แสนล้านบาท”

tp8-3323-a ขณะเดียวกันอินเดียเป็นอีก1คู่แข่งที่น่ากลัว โดยในปีที่แล้วได้เพิ่มพื้นที่เลี้ยงกุ้งอีก 3 แสนไร่ ทำให้เวลานี้มีพื้นที่เลี้ยงกว่า 1.5 ล้านไร่ และมีผลผลิตกุ้งส่งออกมากกว่าไทย (กราฟิกประกอบ) และกลายเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกในเวลานี้ ขณะที่ผลผลิตกุ้งไทยอยู่อันดับ 4 ของโลก ส่วนจีนที่มีผลผลิตกุ้งมากที่สุดในโลก แต่ไม่เพียงพอบริโภคในประเทศ

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ในปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป คาดไทยจะมีผลผลิตกุ้งโดยรวมประมาณ 3 แสนตัน ตํ่ากว่าคาดการณ์เล็กน้อย (คาดการณ์ไว้ที่ 3.5 แสนตัน) ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตกชุก และนํ้าท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรคอีเอ็มเอสที่เคยส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างรุนแรง ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายลงมากแล้ว

ขณะที่ในปี 2561 คาดผลผลิตกุ้งของไทยจะเพิ่มขึ้น 10% หรือมีผลผลิต 3.3 แสนตัน ในจำนวนนี้คาดจะส่งออกได้ราว 2.2 แสนตัน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท จากปีนี้คาดจะส่งออกได้ระดับ 2 แสนตัน มูลค่าราว 6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าจะได้ตามคาดการณ์หรือไม่ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เวลานี้เงินบาทแข็งค่ามากที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขันในการส่งออกมาก ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ส่งออกต้องการและยังสามารถแข่งขันได้คือ 33-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“การส่งออกกุ้งไทยช่วง 10 เดือนแรกปีนี้มีปริมาณ 1.67 แสนตัน มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.0 และ 2.9% ตามลำดับ โดยตลาดที่ยังขยายตัวได้ดีได้แก่ จีน และออสเตรเลีย ส่วนตลาดสหภาพยุโรปหรืออียูยังติดลบ ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเคยส่งออกไปอียูได้สูงสุดถึง 7 หมื่นตันต่อปี แต่ปัจจุบันลดเหลือระดับ 7 พันตัน จากตลาดอียูมีความต้องการกุ้งถึง 7 แสนตัน/ปี”

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยส่งออกกุ้งไปตลาดอียูลดลงอย่างมากเป็นผลจากสินค้ากุ้งของไทยถูกอียูตัดจีเอสพีทำให้ต้องเสียนำเข้าในอัตราสูง เสียเปรียบคู่แข่งขันที่ยังได้จีเอสพี โดยในส่วนของกุ้งสดไทยต้องเสียภาษีนำเข้า 12% และกุ้งแปรรูปที่ 20% อย่างไรก็ดีจากที่อียูได้ประกาศจะฟื้นความสัมพันธ์กับไทยทุกมิติหลังมีโรดแมปทางการเมืองที่ชัดเจนมองเป็นโอกาสที่ไทยจะเดินหน้าฟื้นการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียู ซึ่งหากทางอียูพร้อมเจรจาคาดจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 1 ปี จะส่งผลดีต่อการแข่งขันส่งออกกุ้งไทยไปอียูโดยไม่เสียภาษี และจะทวงคืนตลาดจากที่เคยส่งออกได้ถึง 7 หมื่นตัน/ปีกลับคืนมาได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9