แก้ปมสินค้าเกษตร-เล็งได้ใบเขียวไอยูยู โจทย์ท้าทาย‘กฤษฎา บุญราช’

20 ธ.ค. 2560 | 07:34 น.
คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล “ประยุทธ์ 5” ซึ่งเหลือเวลาบริหารบ้านเมืองอีก 1 ปีเศษได้แต่งตั้ง “กฤษฎา บุญราช” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ พ่วงด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการ อีก 2 คนประกอบด้วยนายลักษณ์ วจนานวัช อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยกันขับเคลื่อนและสร้างผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมรอการแก้ไขทั้งราคาสินค้าเกษตรตกตํ่าไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มนํ้ามัน ข้าว รวมถึงปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ฯลฯ

[caption id="attachment_242508" align="aligncenter" width="503"] กฤษฎา บุญราช กฤษฎา บุญราช[/caption]

++เป้าหมาย 1 ปีที่เหลือ
“กฤษฎา” ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สิ่งที่รัฐมนตรีทั้ง 3 คนได้ตั้งเป้าหมายไว้ในช่วงปีเศษนับจากนี้คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของเกษตรกรให้ลดน้อยลง การวางระบบการเกษตรที่ดีเพื่อเป็นพื้นฐานเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปมาต่อยอดได้เช่น เกษตรแปลงใหญ่ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาผลักดันสู่ภาคการปฏิบัติจริงของเกษตรกรและขยายผลต่อ บนหลักการที่ว่าเมื่อเกษตรกรปลูกอะไร หรือเลี้ยงอะไรแล้วควรจะขายได้อย่างน้อยในราคาเท่าทุน หรือสูงกว่า และจะดูแลเรื่องลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร การสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกันเป็นกลุ่มไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสหกรณ์ เป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการรวมกลุ่มในลักษณะนี้หากรัฐบาลจะช่วยเหลือในเรื่องใด จะพูดหรือทำได้ง่ายกว่า และไม่เสียงบประมาณมาก

“การมารับหน้าที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ถ้าบอกตามจริงก็ยอมรับว่าหนักใจ แต่หนักใจของผมไม่ใช่หนักใจแล้วไม่ทำงาน แต่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง เพราะครั้งแรกที่ท่านนายกรัฐมนตรีติดต่อผมไป ผมปฏิเสธ แต่ท่านบอกว่างานนี้เป็นงานของชาติบ้านเมือง ถ้าคุณรักชาติบ้านเมืองก็มาช่วยกัน ผมได้ยืนยันว่าผมรักชาติบ้านเมืองเหมือนกันจึงได้ตัดสินใจมาช่วย”

อ๊ายยยขายของ-7-1 ++งานด่วนแก้ราคาพืชผล
อย่างไรก็ดีแม้จะไม่ได้โตมาจากข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ แต่ในฐานะที่ทำงานกับกระทรวงมหาดไทยมา 38 ปี เริ่มต้นจากเป็นข้าราชการในส่วนภูมิภาค เป็นปลัดอำเภอ เป็นนายอำเภอ ก็ได้ลงพื้นที่ตลอด เวลาเกษตรกรมีปัญหาความเดือดร้อนก็จะมาที่ปลัดอำเภอ เกษตรอำเภอ ประมงอำเภอ ก็ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องโครงสร้าง รู้ลักษณะเนื้องาน และปัญหา ทำให้สามารถที่จะชี้แนะในเชิงบริหารได้ว่าวิธีการทำงานจะแก้หรือทำอย่างไร ขณะที่รัฐมนตรีช่วย 2 คนมีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรมาโดยตรงก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้

“งานที่ต้องเร่งแก้ไขเฉพาะหน้า ได้แก่ ราคาพืชผลเกษตรตกตํ่า ปัญหาสาธารณภัย อาทิ นํ้าท่วมภาคใต้ ส่วนการวางแผนระยะกลางเช่นการปรับปรุงโครงสร้างข้าราชการกระทรวงเกษตรฯที่อยู่ในอำเภอ ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้ทำงานร่วมกันได้และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยยึดความเดือดร้อนของเกษตรกรต้องมาก่อนเป็นลำดับแรกที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ เช่น หนี้สินของเกษตรกร เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกตํ่า และดันราคาให้สูงขึ้นนั้น เบื้องต้นที่ได้ประกาศจะดำเนินการแล้วคือจะไม่นำยางในสต๊อกของรัฐจำนวน 1.4 แสนตันออกมาขายแข่งในตลาดเพื่อลดซัพพลาย

บาร์ไลน์ฐาน ++เร่งกู้ยางราคาร่วง
ขณะที่ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ได้รายงานให้ ครม.รับทราบถึงแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางตกตํ่า 3 มาตรการได้แก่ 1. ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เป้าหมาย 2 แสนตัน 2. มาตรการชดเชยดอกเบี้ย 3% แก่ผู้ประกอบการยางเพื่อดูดซับยางออกจากระบบ 3.5 แสนตันและ 3. การชะลอกรีดยางในพื้นที่สวนยางของหน่วยงานรัฐเพื่อชะลอปริมาณยางที่จะออกสู่ระบบกว่า 5,000 ตันในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2561

“ส่วนเรื่องความร่วมมือชะลอการส่งออกยางของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียเป้าหมาย 3.5แสนตันนั้นต้องรอดูความชัดเจนของอีก 2 ประเทศก่อนผมจะยังไม่เซ็นความตกลง และจะให้ตรวจสอบยางในสต๊อกเอกชนก่อน ขณะที่การตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผลการตรวจสอบยังไม่ถึงมือ แต่คำตอบของผมก็คือจะดูตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สมมติว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้แล้วข้อกฎหมายให้ผมต้องทำอย่างไรก็จะทำแบบนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะปลดหรือไม่ปลดผู้ว่าการ อย่างไรก็ดีเรื่องยางมั่นใจว่าจะทำให้ราคากระเตื้องขึ้นได้ แต่จะปรู๊ดปร๊าดไป 90 บาท 100 บาทต่อกิโลฯเหมือนเมื่อก่อนคงยาก ยกเว้นนํ้ามันขึ้นไปเกิน 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคายางก็จะขยับสูงตาม”

++หวังได้ใบเขียวไอยูยู
ส่วนเรื่องที่สหภาพยุโรป(อียู)ให้ใบเหลืองไทยเรื่องมีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) นั้น ขณะนี้ไทยสามารถทำตามกฎระเบียบของอียูได้ไม่ค่อยมีปัญหาแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งกรมประมงกำลังมีปัญหากับชาวประมงไทยเนื่องจากชาวประมงระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลกำหนดกฎเกณฑ์ตามพ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่มีความเข้มข้นกว่ากติกาของไอยูยู เรื่องนี้ได้รับข้อเสนอแนะจากชาวประมงว่าหากจะออกข้อบังคับอะไรขอให้มีตัวแทนชาวประมงมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกด้วย ซึ่งก็ได้รับข้อเสนอมา

“กรมประมงบอกว่าถ้าไม่เข้มแบบนี้เดี๋ยวเราขัดกฎกติกาของเขา เราก็จะโดนอีกจากใบเหลืองก็อาจจะกลายเป็นใบแดง ส่วนข้อถามที่ว่า มีแนวโน้มที่ไทยจะได้ใบเขียวในมือรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเหลือเวลาทำงานอีกปีกว่าหรือไม่ อันนั้นคือเป้าหมายที่ผมพยายามจะทำให้ได้” กฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9