ชงข้อเสนอปฏิรูปการเมือง สกัด‘คสช.’สืบทอดอำนาจ

18 ธ.ค. 2560 | 09:00 น.
TP14-3323-6B ในห้วงที่บรรยากาศทางการเมืองยังอึมครึมจากความไม่ชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2560 จึงเกิดปฏิกิริยาจากพรรค การเมืองร้องขอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกทางการเมือง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะผ่อนปรนกฎกติกาทางการ เมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้บ้านเมืองเดินตามโรดแมป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐบาล

อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองตามแผนปฏิรูปทางการเมือง เพื่อสรุปความเห็นจากทุกภาค เสนอต่อที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ก่อนส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในลำดับต่อไป

[caption id="attachment_242478" align="aligncenter" width="335"] ศุภชัย ใจสมุทร ศุภชัย ใจสมุทร[/caption]

++แนะถ่วงดุลอำนาจกองทัพ
เวทีรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมืองที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีตัวแทนพรรค การเมืองและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน โดยนำเสนอ ตามกรอบแผนการปฏิรูป 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการเสริมสร้างวัฒน ธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2.ด้านกลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้จักรักสามัคคีของสังคมไทย เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต 3.ด้านการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม 4.ด้านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ และ 5.การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย

ประเด็นที่ผู้ร่วมสัมมนาให้ความเห็นหลากหลาย เห็นจะเป็นประเด็นตามข้อเสนอของ นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องเป็นกลางทางการเมือง โดยตั้งข้อสังเกตว่าการที่ คสช. ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง อาจ เป็นเพราะอยู่ระหว่างเตรียมการบางอย่าง ต้องการสืบทอดอำนาจด้วยการตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ และเชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะเกิด ขึ้นจะไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ถ้าคสช.ลงมาเป็นผู้เล่นด้วย

“ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้เขียนประเด็นการถ่วงดุลทางอำนาจของกองทัพเอาไว้ ต่อไปควรจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ เพื่อจะได้ตรวจสอบถ่วงดุลเหมือนองค์กรอิสระ หากรัฐบาลปัจจุบันต้องการสืบทอดอำนาจอีกไม่นานความจริงจะปรากฏ”

[caption id="attachment_242475" align="aligncenter" width="380"] สมชัย ศรีสุทธิยากร สมชัย ศรีสุทธิยากร[/caption]

++เลือกตั้งไม่แฟร์สังคมไร้สุข
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง แสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นการสืบทอดอำนาจของกองทัพว่า ถ้ารัฐบาลปัจจุบันไม่ยุ่งกับพรรคการเมืองไหนเลย ไม่เอาตัวเข้าไปสนับสนุนพรรคการเมืองเพื่อวางแผนสืบทอดอำนาจ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเลือกตั้งที่ดี แต่ถ้าคิดว่าจะต้องเข้าไปมีโอกาสมีตำแหน่งในรัฐบาลหน้า อำนาจนี้จะน่ากลัวมาก เพราะจะถูกถ่ายทอดเข้าไปสู่ข้าราชการที่เป็นกลไกของการเลือกตั้ง ยังไม่รวมถึงผู้ที่จัดการเลือกตั้ง ว่าจะมีความเกรงใจรัฐบาลเพราะได้รับการส่งเสริมเข้ามาหรือไม่ จะมีความกล้าหรือไม่ ลูบหน้าปะจมูกหรือไม่ ถ้าไม่เป็นหนี้บุญคุณต่อกัน จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วงว่าจะทำงานได้ดีอย่างเต็มที่หรือไม่

“ถ้าต้องการสังคมที่ไม่มีความขัดแย้งต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นธรรม แต่กติกาก็ไม่เป็นธรรม ผู้เล่นก็มีความได้เปรียบ เสียเปรียบ ถ้าเป็นอย่างนี้อย่าหวังว่าหลังเลือกตั้งสังคมจะปกติสุข วันนี้ยังทันที่จะปรับปรุงในเรื่องที่ไม่แฟร์เกม อย่าคิดมุ่งเอา ชนะมากเกินไป ถ้าทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม สังคมปกติสุขก็จะกลับคืนมา”

[caption id="attachment_242476" align="aligncenter" width="335"] พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก[/caption]

ด้าน พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก รองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แสดงความเห็นว่า ประเด็นที่หวั่นเกรงว่า จะมีพรรคทหาร ซึ่งขณะนี้เป็นผู้มีอำนาจรัฐและเฝ้าดูอยู่แต่จะตั้งพรรคการเมืองนั้น ยังไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องนี้เป็นกิจจะลักษณะ หรืออาจเป็นเพราะไม่ถึงเวลาก็ได้ แต่คนใช้อำนาจยึดอำนาจแล้วอยู่ดีๆ ไปตั้งพรรคการเมือง คิดว่าเป็นเรื่องดี ขอให้ตั้งพรรคจริงๆ เพราะพรรคทหารก็เหมือนมวยสมัครเล่น คิดว่าถ้าทหารลงมาตั้งพรรคจริงก็คงไม่ได้เสียงข้างมาก ส่วนจะได้กี่เสียงคนตัดสินสุดท้ายก็คือประชาชน

[caption id="attachment_242479" align="aligncenter" width="335"] พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ[/caption]

++หวั่นเกิดวิกฤติหลังเลือกตั้ง
ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ให้แง่คิดว่า อยากให้จัดรูปแบบเลือกตั้งท้องถิ่นให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อเป็นรากฐานให้การเลือกตั้งใหญ่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งส.ส.ที่จะเกิดขึ้น ผลจากกติกาตามรัฐธรรมนูญทำให้ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาทำให้ต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค พร้อมกับวิเคราะห์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังการเลือกตั้งว่า ที่กำหนดให้การนับคะแนนในเขตเลือกตั้ง 325 เขตก่อน หากเกิดปัญหานับไม่ได้ เพราะมีการร้องเรียน มีการฟ้องร้อง ก็จะเกิดวิกฤติ การฟ้องร้องจนทำให้นับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้

หากมีบางหน่วยเกิดปัญหาต้องระงับการเลือกตั้งในหน่วยนับ การนับคะแนนทั้งประเทศก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้นที่ระบุว่าต้องประกาศจำนวน ส.ส. 95% เพื่อนำไปสู่การเปิดประชุมสภาก็จะแทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติเลือกตั้งทั้งหมด อีกทั้งไม่มีเขียนในรัฐธรรมนูญว่า หากเกิดปัญหาในการเลือกตั้งแล้วจะมีองค์กรไหนเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง”

[caption id="attachment_242477" align="aligncenter" width="335"] สุริยะใส กตะศิลา สุริยะใส กตะศิลา[/caption]

นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองไกลถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 ว่า สภาวะเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะนำประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ มีการใช้ภาวะที่ประชาชนผวากับนักการเมืองมาล้อมกรอบการเคลื่อนไหวของประชาชน และเชื่อว่าในอนาคตจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐที่ลุกลามมากขึ้น ส่วนเรื่องรัฐธรรมาธิปไตย ต้องทำให้ความชอบธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นความชอบธรรม นอกจากนี้ในแผนปฏิรูปการเมืองเรื่องความปรองดองก็เขียนไว้ไม่ชัด พร้อมกับยืนยันว่าปรองดองไม่ต้องนิรโทษกรรมแกนนำ แต่ขอให้นิรโทษกรรมให้ประชาชนที่เคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลแล้วถูกดำเนินคดี โดยรัฐบาลไม่ควรเป็นศัตรูกับประชาชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9