กูรูบัญชีจุฬาฯฟันธงธุรกิจไทยปี 61 ดาวรุ่ง-ดาวร่วง

15 ธ.ค. 2560 | 10:31 น.
เหล่าคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภาคต่างๆของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟันธงธุรกิจไทยปี 2561 ในงานสัมมนาแห่งปี The Flagship Summit : Future Fast Forward เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกันทุกความเสี่ยง และมุ่งสู่ทุกโอกาส ให้แก่นักธุรกิจไทย

02-จุฬาฯ-ฟันธงธุรกิจไทยปี-2561-(1)-1 รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี และอาจารย์ภาควิชาการพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยในงาน The Flagship Summit : Future Fast – Forward ว่า “ปี 2561 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและเป็นปีแห่งโอกาส ซึ่งคาดการณ์ว่าภาพรวม GDP เศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะเติบโตที่ 4.5% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท และการเลือกตั้ง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจส่งออกด้านเกษตร อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิกส์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำพวกคอนโดที่อยู่ตามแนวโครงการรถไฟฟ้า

ในขณะที่อุตสาหกรรมประเภทธุรกิจมีเดียบันเทิง ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจค้าปลีก อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดหากไม่ปรับตัวจากการก้าวล้ำของเทคโนโลยี เทรนด์ธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงต้องมีการปรับตัว ด้วยการเรียนรู้เทรนด์ทางกลยุทธ์ อย่างการสร้างตลาดใหม่ โดยที่ตลาดเดิมยังคงอยู่ สร้างความต้องการใหม่ๆ และการเพิ่มศักยภาพและผสมผสานการใช้งานเทคโนโลยี หรือการสร้าง Shared Value ในขณะที่ต้องศึกษาเรื่องของ Business Model ใหม่ๆ อย่าง 020 (online to offline) ที่กำลังมาแรง ซึ่งการเรียนรู้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยฟันธงว่าผู้นำองค์กรในปี 2561 จะต้องเป็นคนถ่อมตัวทางปัญญา พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา และยังต้องทันสมัย รู้ทัน ทำงานเป็นทีม มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว”

ด้านภาควิชาการบัญชี รศ.ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ อาจารย์ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “พหูสูต” ทางการบัญชีไทย และอดีตประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ของสภาวิชาชีพบัญชีฯ เผยว่า “จากข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจยานยนต์จะยังไปได้ดีในปีหน้า โดยมุ่งจับฐานผู้บริโภคระดับบน เนื่องจากมีกำลังซื้อ ซึ่งข้อมูลทางบัญชีจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินเป็นไปในทิศทางที่วางไว้ โดยสามารถนำตัวเลขทางการเงินต่างๆ ที่เป็นรายได้ผลตอบแทน มาตรวจสอบว่าสอดคล้องเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางแผนกลยุทธ์ไว้หรือไม่ หรือนำมาช่วยวิเคราะห์ในการวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจ ดังนั้นการนำข้อมูลทางบัญชีมาช่วยซัพพอร์ตการวางแผนทิศทางของธุรกิจ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ”

ส่วนภาควิชาสถิติ รศ.ดร.อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าภาคฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ เผยว่า “ปัจจุบัน Big Data ที่มีจำนวนมากและหลากหลายต้องนำมาย่อยแปลงสภาพเป็น Smart Data ที่พร้อมสำหรับนำไปใช้งาน สามารถนำไปวางแผนการตลาด ก่อให้เกิดแผนการตลาดใหม่ โปรโมชั่นใหม่ หรือสินค้าใหม่ ซึ่งธุรกิจที่ต้องนำ Smart Data ไปใช้ คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เช่น สถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องมีการเก็บข้อมูล แต่ในประเภทธุรกิจ SME จะเป็นการนำ Smart Data จากแหล่งอื่นมาใช้ เช่น IG, Facebook, Line เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีขนาดเล็ก”

04 จุฬาฯ ฟันธงธุรกิจไทยปี 2561 ภาควิชาการธนาคารและการเงิน รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาคฯ และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ล.ต. ฟันธงว่า “อุตสาหกรรมทางการเงินจะไม่โดน disrupt ถ้าทุกคนทุกภาคส่วนมีการปรับตัว อุตสาหกรรมทางการเงินจะยังคงอยู่และน่าจะเป็นแรงหนุนที่สำคัญในการเติบโตของระบบอื่นๆ เศรษฐกิจอื่นๆ ภาคส่วนอื่นๆ สำหรับ Fintech ที่ทุกคนห่วงว่า จะมาแทนที่ธนาคารหรือจะมาแย่งงานของมนุษย์รึเปล่า ณ ตอนนี้ คำตอบ คือ ไม่ แต่ธนาคารจะเป็นคนแรกที่จะนำมาใช้และจะรวมเข้ากับธุรกิจของเขา เพื่อใช้ในการให้บริการลูกค้า ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์ และการกลัวที่จะถูก disrupt ก็จะเป็นแรงกระตุ้น ทำให้สถาบันต่างๆ เกิดการปรับตัว นำสิ่งต่างๆ เทคโนโลยีต่างๆ มาทำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าขององค์กรอย่างสูงสุด”

05 จุฬาฯ ฟันธงธุรกิจไทยปี 2561 (1) ปิดท้ายด้วยภาควิชาการตลาด ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาคฯ และ ผู้เชี่ยวชาญในพัฒนาแนวทางการสร้างกลยุทธ์การตลาดสุดทันสมัย ฟันธงอนาคตการตลาดว่า “จะต้องออกแบบพฤติกรรมของลูกค้าจากความเข้าใจ ความต้องการเชิงลึกหรือ Consumer Behavior Design and Human Insight จากรู้จัก เข้าใจ ไม่เพียงพอ ในอนาคตต้องออกแบบพฤติกรรมลูกค้า (From Knowing Customers to Understanding Customers to Designing Customers) จากลูกค้าสู่แฟนคลับต้องกลายเป็นสาวก (From Customers to Advocates to Evangelists) จากการใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ สู่ธุรกิจดิจิทัลและต้องกลายเป็นชีวิตดิจิทัล (From Digital Tools to Digital Business to Digital Life) เปลี่ยนสิ่งที่วัดค่าไม่ได้ให้วัดได้ และนำสิ่งที่วัดค่าได้กับวัดค่าไม่ได้ มารวมกันกลายเป็นการวัดแบบรอบด้าน โดยใช้เครื่องมือวัดมูลค่าของแบรนด์ CBS Valuation (From Intangible to Tangible to Holistic) และสุดท้าย จากความรับผิดชอบสังคม (CSR) สู่การสร้างคุณค่าที่แชร์ร่วมกัน (CSV) กลายเป็นการรับผิดชอบสังคมในโลกดิจิทัล (Digital Social Responsibility) ถ้าอยากเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน อย่ารับผิดชอบแค่ offline แต่ต้องรับผิดชอบในดิจิทัลด้วย ดังนั้นหากอยากให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องเตรียมพร้อมรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การทำ Branding เป็นสิ่งสำคัญ Future Marketing และ Future ของธุรกิจเราๆ ทุกคนกำหนดได้ ทุกอย่างใน Future เราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้”