“ประสาร”ชี้โจทย์ท้าทายปฏิรูปเศรษฐกิจ “ผู้นำ-กล้าตัดสินใจ”รับสถานการณ์ปัจจุบันเอื้อ

15 ธ.ค. 2560 | 03:50 น.
“ประสาร” “ เปิดแผนปฏิรูปพุ่งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจแท้จริง “แข่งขันได้-กระจายประโยชน์ – โตยั่งยืน “ โฟกัส 3 ด้านสำคัญ 1.เพิ่มผลิตภาพ 2.ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ รับโจทย์ใหญ่ท้าทาย โอกาสผลักดันการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ถึงฝั่ง ขึ้นกับ”ผู้นำและความกล้าตัดสินใจ”

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน “ (14 ธ.ค.2561)ตอนหนึ่งว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยประเทศไทยติดอยู่ในอันดับต้นๆที่มีความเหลื่อมล้ำในหลายมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านโอกาสและความสามารถการแข่งขัน และปัญหาในเรื่องคอร์รัปชั่น โดยเครื่องชี้ Corruption Perceptions Index ปี 2559 ไทยไหลลงไปอยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ มีคะแนนเท่ากับฟิลิปปินส์ และแย่กว่าอาร์เจนติน่า ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเหนี่ยวรั้งการก้าวต่อไปของประเทศ

“ศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยช่วงก่อนปี 2540 เคยโตเฉลี่ยที่ 9% ช่วงปี 2543-2546 โตเฉลี่ย4 % แต่ในช่วงหลัง ๆกว่าจะโตได้ถึง 4 % ก็นับว่ายากแล้ว” นอกจากนี้เมื่อมองไปข้างหน้า บริบทสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม จึงเป็นความท้าทายใหม่ ๆที่รอให้เราฝ่าฟันบนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน บิสซิเนส โมเดล เป็นต้น

ภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่และปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว คณะกรรมการ ฯจึงกำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูป โดยมองไปข้างหน้าอยากจะเห็นประเทศไทยมีการ “พัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง” นั่นคือคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วน กระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนแต่ละคน มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้แบ่งประเด็นปฏิรูปออกเป็น 3 ด้านสำคัญคือ

ด้านที่ 1 .เพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ 2.ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น โดยระดับประเทศจะเน้นการพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค ไม่ให้ความเจริญกระจุกเฉพาะในกรุงเทพ ฯ ในระดับชุมชุน เน้นเพิ่มความเข้มแข็งในมิติต่าง ๆและในระดับบุคคล คือเน้นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรและแรงงานยากจนในระดับฐานราก และ 3.ปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการปฏิรูปด้านที่ 1 และด้านที่ 2

“ระบบสถาบันด้านเศรษฐกิจ หลายส่วนที่เคยออกแบบไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนอาจไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศภายใต้บริบทใหม่ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปหน่วยงานทางเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นระดับวางยุทธศาสตร์ ปฏิบัติ และติดตามผลให้ทันสมัย โดยภาครัฐต้องปรับบทบาท จากผู้กำกับดูแล ให้เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มาก”

วิทยุพลังงาน ทั้งนี้ทิศทางสำคัญคือ มิติแรกภาครัฐต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น เรื่องการปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ปรับกติกาให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างคล่องตัว มิติที่สองต้องโปร่งใส มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่น มิติที่สาม กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีการตัดสินใจมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถเสนอแนะสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหา มีเจ้าภาพชัดเจน และมิติที่สี่ ประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในโลกที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างส่วนราชการ และ ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

นายประสาร ยังกล่าวถึงโอกาสและความท้าทายว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปจะเกิดขึ้นหรือไม่ยังขึ้นกับจังหวะและโอกาส ซึ่งโชคดีที่สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันเอื้อให้การปฏิรูปต่างๆเกิดขึ้นได้ กล่าวคือประชาชนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน ประกอบสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มค่อนข้างดี เอื้อต่อการปฏิรูปเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจระยะยาว

อย่างไรก็ดีโจทย์ท้าทายคือ โอกาสผลักดันให้เกิดเปลี่ยนแปลงก็อาจไม่มากนัก เพราะธรรมชาติความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงมักจะหนักแน่นในช่วงแรก แต่สักพักจะแผ่วลง และหัวใจสำคัญของการปฏิรูปยังขึ้นกับ Leadership หรือ ผู้นำ ต้องเข้าใจปัญหาและกล้าตัดสินใจในเรื่องที่ยาก จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน และ stakeholders ที่เกี่ยวข้องที่พร้อมจะก้าวไปด้วยกัน โดยมีประโยชน์ร่วมของประเทศชาติเป็นเป้าหมาย ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9