บุกทำเนียบร้อง"นายกฯ-ลักษณ์" อุ้มไข่ไก่เหลือ2 บาท/ฟอง

13 ธ.ค. 2560 | 11:06 น.
นายสุนทร พรายรัตน์ กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน คณะทำงานเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายลักษณ์ วัจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับเรื่อง เนื่องจากไข่ไก่ หน้าฟาร์มเกษตรกรขายได้ 2-2.10 บาทต่อฟอง ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2.90 บาท สาเหตุมาจากในเดือนธันวาคม 2560 พบว่า มีปริมาณไก่ยืนกรงจำนวนถึง 60 ล้านตัว ในขณะที่ผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ 20 รายของประเทศ ขยายกำลังการผลิตมากขึ้น จนถือครองตลาดถึง 50% ของตลาดทั้งหมด ทำให้เกิดสถานการณ์ไข่ไก่ราคาถูก ในขณะที่ไข่ไก่ตามตลาดราคา 3 -3.50 บาท นำไปสู่ปัญหาพ่อค้าคนกลางได้กำไรมาก ผู้บริโภคต้องซื้อแพงกว่าที่ควรและเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนสะสม

egga

ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมาภาคธุรกิจผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ได้ขยายจำนวนโรงงานผลิตอาหารสัตว์มีกำลังการผลิตถึง 1,000,000 ล้านตัน ทำให้ต้องมีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เพิ่ม จนเกินกำลังการบริโภคของทั้งตลาดภายใน และการส่งออกไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย จึงทำให้ราคาไข่ไก่ตก ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาดกลางและรายย่อยซึ่งเผชิญกับปัญหาราคาไข่ถูกมาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จำเป็นต้องขายไข่ไก่ในราคาต่ำกว่าต้นทุน เผชิญกับภาวการณ์ขาดทุนนานเกินไป มีปัญหาหนี้สินสะสมมาก จนขาดเงินทุนหมุนเวียน

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จากแต่ละภาค ซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ใคร่ขอความช่วยเหลือจาก ท่านนายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรโดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

egga1

นโยบายระยะยาว ขอให้จัดทำแผนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ โดยมีการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานอื่นๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ในการจัดทำแผนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ จำนวนการผลิตของไข่ไก่ จำนวนฟาร์มการเลี้ยงไก่ไข่ สัดส่วนการผลิตระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาดกลางและรายย่อย กำหนดราคามาตรฐานของปัจจัยการผลิต ราคาขายไข่ไก่ โดยร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุ แก้ปัญหา และหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้นโยบายชัดเจน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

กำหนดให้มี ราคากลางไข่ไก่ โดยให้คณะกรรมการพัฒนานโยบายไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ มีการเรียกประชุมระหว่างสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ กับฟาร์มผู้ผลิตขนาดกลางและรายย่อย เพื่อหาข้อสรุปกลางที่จะทำราคาไก่มีเสถียรภาพ รวมทั้งนำไปเป็นข้อมูลอ้างอิงในการกำหนดราคากลางไข่ไก่ต่อไป โดยจัดทำกรอบและแผนการนำเข้าไก่ไข่ โดยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากรายงานข้อมูลการเคลื่อนย้ายลูกไก่แบบ real-time จากระบบ e-movement ของกรมปศุสัตว์ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นจริง นำมาวิเคราะห์ประกอบการจัดทำกรอบและแผนการนำเข้าไก่ไข่ในปีต่อๆ ไป
egga2 นอกจากนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำไข่ไก่เป็นวัตถุดิบ เช่น อาหารสัตว์ เวชสำอาง อาหารโปรตีนเข้มข้นสำหรับผู้ป่วย หรือการนำไข่ขาวมาเป็นวัสดุทางการแพทย์ ทั้งนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาดกลางและรายย่อย มีความประสงค์ที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม เงินลงทุน และตลาดทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน

ส่วนมาตรการระยะสั้น กำหนดมาตรการเพื่อตรึงราคาอาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในเบื้องต้น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ขยายตลาดจำหน่ายใหม่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้จำนวนปริมาณการผลิตเกินความต้องการ (Over-supplied) ของการบริโภคภายในประเทศแล้ว มีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ของนักเรียน ทั้งที่บ้าน และในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยให้ความสำคัญต่อการจัดซื้อไข่ไก่ที่ผลิตโดยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ขนาดกลางและรายย่อย มาตรการเฉพาะหน้าในการส่งเสริมให้บริโภคไข่ไก่คนละ 300 ฟองต่อปี ในปี 2560 ไม่ประสบความสำเร็จ ควรปรับลดปริมาณพันธุ์สัตว์ลง 10 % เพื่อให้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งสภาวะความต้องการการตลาดที่แท้จริง
egga4

นายสุนทรเผยว่า รัฐบาลต้องช่วยเหลือปัญหาหนี้สินและเงินทุนหมุนเวียนแก่เกษตรกรอย่างเร่งด่วน มีนโยบายให้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สนับสนุนเงินกู้ยืมแก่เกษตรกร รายย่อยที่เลี้ยงไม่เกิน 100,000 ตัว และได้มีการขึ้นทะเบียนฟาร์มกับกรมปศุสัตว์แล้ว โดยกำหนดวงเงินกู้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท ปลอด ดอกเบี้ย 2 ปี และให้เริ่มชำระคืนเงินต้นในปีที่ 3 ระยะเวลากู้ยืม 7 ปี

สนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่นาดกลางและรายย่อยให้สามารถ เข้าถึงการช่วยเหลือทางการเงินของนโยบาย SME เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินการต่อไปและติดตามผลการดำเนินการ ตามมติการประชุมคณะกรรมการพัฒนานโยบายไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 2 วันที่ 28 เมษายน 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น มีหน่วยงานได้รับมอบหมายให้มีการดำเนินงาน ดังนี้

1. ให้มีกฎหมายควบคุมการนำเข้า ปู่ ย่า พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เพื่อควบคุมไม่ให้ปริมาณนำเข้าล้นตลาดโดยสามารถใช้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าพ.ศ. 2522 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศกำลังดำเนินการแก้ไข คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2561

egga5

2,ให้มีกฎหมายควบคุมการปลดระวางไก่ เพื่อไม่ให้มีไข่ไก่มากเกินจนล้นตลาด โดยใช้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ในการควบคุมการปลดระวางไก่ไข่ที่ 78 สัปดาห์ ซึ่งมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการแก้ไขกฎกระทรวง และได้เสนอให้สำนักงานกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการพิจารณา

3.ปัญหาผู้เลี้ยงไก่ไข่ขยายฟาร์มมากเกินไป ทำให้ไข่ไก่ล้นตลาด มีมติให้กำหนดการประชุมเพื่อวางแนวทางการปฏิบัติ กรณีการขยายฟาร์มไก่ไข่ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 300,000 ตัว ขึ้นไป จะต้องมีแผนการตลาดและแผนธุรกิจที่ชัดเจน และให้จัดทำร่างระเบียบกองทุนไก่ไข่ โดยจัดเก็บจากปริมาณการนำเข้า ปู่ ย่า พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9