แก้ปาล์มทางตัน โรงกลั่นปัดสต๊อก

16 ธ.ค. 2560 | 07:15 น.
แผนแก้ปัญหาสต๊อกปาล์มวุ่น ผู้ผลิตไบโอดีเซลยันไม่มีถังเก็บดูดซับปาล์มนํ้ามันดิบ 1 แสนตันยาก และต้องแบกรับภาระขาดทุนเพิ่ม“นํ้ามันพืชปทุม” ถกพลังงาน ขอความชัดเจนแนวทางให้เอกชนช่วย

[caption id="attachment_230850" align="aligncenter" width="503"] สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์[/caption]

จากกรณีที่คณะกรรม การนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาราคาปาล์มนํ้ามันตกตํ่า ด้วยการเร่งลดสต๊อกที่เก็บอยู่กว่า 5 แสนตัน โดยใช้แนวทางการเร่งรัดส่งออกนํ้ามันปาล์ม และให้กระทรวงพลังงานไปบริหารจัดการสต๊อกของภาคเอกชนไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซลหรือบี 100 เพิ่มขึ้น เพื่อดูดซับนํ้ามันปาล์มดิบ 1 แสนตัน

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการบริษัท นํ้ามันพืชปทุม จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมเตรียมหารือกับทางกระทรวงพลังงาน ผู้ผลิตไบโอดีเซลบี100 ผู้ค้านํ้ามันมาตรา 7 และหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหาแนว ทางร่วมกันว่าจะสามารถนำสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบ(ซีพีโอ) เพื่อใช้ในภาคพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 1 แสนตันได้หรือไม่

ขณะที่ปัจจุบันยังมีความกังวลเรื่องถังเก็บนํ้ามันไบโอดีเซลบี 100 เนื่องจากที่ผ่านมามีการเก็บสต๊อกบี 100 เพิ่มขึ้น และยังคาดการณ์ว่าสถานการณ์ผลผลิตปาล์มปี 2561 จะเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงฤดูกาลใหม่ที่จะเริ่มเข้ามาในช่วงปลายไตรมาส 1/2561

appต้นปาล์ม-(1) “สมาคมจะหารือกับทางกระทรวงพลังงาน ผู้ผลิต ผู้ค้านํ้ามันในสัปดาห์นี้ ว่าถังเก็บจะเพียงพอหรือไม่ ตอนนี้กังวลถังอาจไม่สามารถรับเพิ่มได้ จึงต้องคุยกันว่าจะสามารถหาแนวทางอื่นได้หรือไม่ ปัจจุบันโรงสกัดเองก็ส่งออกเต็มที่แล้ว 6-8 หมื่นตันต่อเดือน” นายศาณินทร์ กล่าว

แหล่งข่าวจากบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด ผู้ผลิตไบโอดีเซล (บี 100) ขนาด 3 แสนลิตรต่อวัน กล่าวว่า การที่ภาครัฐจะขอความร่วมมือผู้ผลิตไบโอดีเซลรับนํ้ามันปาล์มดิบ(ซีพีโอ) จากโรงสกัดมาเก็บเป็นสต๊อกเพิ่มนั้น เป็นเรื่องยาก เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ให้ความร่วมมือเก็บสต๊อกเพิ่มแล้ว จนปัจจุบันไม่มีถังหรือคลังเก็บสต๊อกเพิ่มได้แต่อย่างใด

อีกทั้ง จากการเก็บสต๊อกในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ต้องขาด ทุนจากสต๊อกที่เก็บไว้ เนื่องจากราคาซีพีโอปรับตัวลดลงอย่างเนื่องราว 300 ล้านบาทแล้ว และหากจะต้องสต๊อกเพิ่มขึ้นอีก จะยิ่งเป็นการทับถมภาวะขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเห็นทิศทางของราคาซีพีโอเป็นช่วงขาลงต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการส่งออกนํ้ามันปาล์มไปยังต่างประเทศ มีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปเวลานี้ ยุติการรับซื้อนํ้ามันปาล์มจากภูมิภาคเอเชีย จากกฎแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พื้นที่เพาะปลูกปาล์มมีการบุกรุกป่าหรือไม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวทางในการดูดซับนํ้ามันปาล์มดิบ ค่อนข้างไร้ทางออก เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนการผสมบี 100 ในนํ้ามันดีเซล จากปัจจุบันผสมอยู่ 7% หรือใช้บี 100 วันละ 3.4-3.5 ล้านลิตร เพิ่มเป็น 10 % ได้ เนื่อง จากค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังไม่ยอมรับในด้านคุณภาพที่เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ได้

วิทยุพลังงาน ขณะเดียวกันการที่จะให้ผู้ค้านํ้ามันหรือโรงกลั่นนํ้ามัน นำบี 100 ไปผสมในนํ้ามันดีเซลเก็บเป็นสต๊อกไว้ก่อน เพื่อดูดซับบี 100 ออกมา ก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากการใช้นํ้ามันดีเซลของประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น หากเก็บไว้นานก็จะมีผลต่อคุณภาพนํ้ามันได้ และหากใช้วิธีนี้จะมีผลต่อไปยังผู้ค้านํ้ามัน ที่ต้องจัดหาถังเก็บอีก ซึ่งจะเก็บสต๊อกได้ราว 3-4 หมื่นลิตรเท่านั้น จะกลายเป็นภาระกับผู้ค้านํ้ามันเพิ่มขึ้น และช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะมีผลผลิตปาล์มออกมาอีก เท่ากับว่าจะทำให้สต๊อกซีพีโอปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนการจะนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ห้ามรับซื้อซีพีโอไปเผาในโรงไฟฟ้าแล้ว เพราะเกิดความเสียหายต่อสาธารณชนเป็นวงกว้างจากภาระค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 6-7 บาทต่อ หน่วย เมื่อเทียบกับใช้ก๊าซธรรมชาติที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย

“การจะดูดซับนํ้ามันปาล์มออกจากสต๊อกที่มีอยู่กว่า 5 แสนตันนี้ เป็นเรื่องยากลำบาก กระทรวงพลังงานไม่ทราบจะไปหาวิธีใด หากไปบีบภาคเอกชนเก็บสต๊อก เมื่อถึงฤดูกาลที่ผลผลิตปาล์มจะออกมาในช่วงต้นปีหน้าอีก ก็จะมาซํ้าเติมปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นในเวลานี้อีก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9