ก.ล.ต. ปรับกฎ! อุ้ม ‘ธุรกิจโบรกฯ’ ดึงดูดต่างชาติ

13 ธ.ค. 2560 | 19:52 น.
0317

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ ปรับวิธีการทำงาน ให้ช่วยเหลือ บล. อ่อนแอ ปิดจุดเสี่ยงธุรกิจ คาดมี 1-2 บริษัท คืนทุนจดทะเบียน แย้ม! มีต่างประเทศสนใจเข้ามาทำธุรกิจ

นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ไม่ได้มีหน้าที่ในการกำกับธุรกิจหลักทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจด้วย ซึ่งยอมรับว่า หลักเกณฑ์หลายเรื่องยังไม่เอื้ออำนวยต่อโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ จึงต้องปรับปรุง จะทำเกณฑ์ฉบับเดียวกันใช้ได้กับทุกคน บนมาตรฐานสากล ต้องยุติธรรมด้วย จึงเป็นที่มาของการคืนทุนจดทะเบียน จะต้องพิจารณาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน มีต้นทุนหรือภาระที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่

 

[caption id="attachment_241730" align="aligncenter" width="503"] ปะราลี สุคนธมาน ปะราลี สุคนธมาน[/caption]

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ปรับเปลี่ยนการทำงาน แทนที่จะไปกำกับตรวจสอบเหมือนที่ผ่านมา ก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้การช่วยเหลือ ช่วยสอน เพื่อให้ทุกบริษัทเข้าใจ สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ยอมรับว่า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หาผู้เชี่ยวชาญด้าน Compliance หรือดูแลการปฏิบัติงานยากมาก

“เราไม่ได้มีเป้าหมายที่จะจับ บล. มาลงโทษเพียงอย่างเดียว หากเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่า ยังทำไม่ได้ตามเกณฑ์ มีบางรายที่ต้องเข้าไปแนะนำ แต่ภาพโดยรวมของ บล. มีสุขภาพดีขึ้น ในการประเมินพบบริษัทได้คะแนน 3 คือ ปานกลางเยอะ”

สำหรับการเปิดทางให้ บล. ในปัจจุบันขอลดทุนจดทะเบียน นางปะราลี กล่าวว่า มีบริษัทหลายแห่งสอบถามข้อมูล คาดว่าจะมี 1-2 บริษัท จะขอลดทุน หลังปรับเปลี่ยนมาเน้นการทำธุรกิจเฉพาะที่ใช้เงินกองทุนไม่สูง ขณะเดียวกัน ก็มี บล. ในต่างประเทศ สนใจเข้ามาทำธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย ในบริการที่มีความเชี่ยวชาญ สำหรับในปี 2560 มี บล. ที่ได้รับใบอนุญาต 1 บริษัท คือ บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด และคืนใบอนุญาต 1 บริษัท คือ บริษัท ยูโอบี บุลเลียน แอนด์  ฟิวเชอร์ (ไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า


splash-646302-1439061433

แนวโน้มการดำเนินธุรกิจ บล. จะเป็นบูติก เหมือนในต่างประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกลงทุนหลากหลาย ไม่ใช้นโยบายการตัดราคา ลูกค้าเลือกใช้บริการบริหารความมั่งคั่ง ขายข้อมูลให้ลูกค้า จะมีทุนและพนักงานที่แตกต่างกัน หลาย บล. มีการนำฟินเทคและปัญญาประดิษฐ์มาให้บริการมากขึ้น มีการใช้โปรแกรมมาช่วยเทรด Algorithm Trading (อัลกอริธึม เทรดดิ้ง)

ส่วนการพัฒนาคนในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์มีหลายระดับ เริ่มจากผู้แนะนำการลงทุน (IC) และพัฒนาขึ้นเป็น IP คือ ผู้วางแผนทางการลงทุน (Investment Planner) และการวางแผนทางการเงิน (CFP) การให้คำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น มีบทวิเคราะห์ วิจัย มีที่มาที่ไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าลูกค้ายังคงต้องการติดต่อและได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“เราต้องการยกระดับธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง ปัจจุบัน มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปพบลูกค้า ซึ่งกำชับให้มีการกำกับดูแลที่ดี ต้องมีหลักฐานในการรับออร์เดอร์และระบบป้องกันความเสี่ยง เช่น กลับจากการไปพบลูกค้าต้องมีการบันทึก หรืออาจจะใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่ 2 คน ไปพบกับลูกค้า แต่ ก.ล.ต. จะไม่บอกวิธีว่า ควรจะทำอย่างไร ในเรื่องการป้องกันความเสี่ยง” นางปะราลี กล่าว

นางปะราลี กล่าวว่า แผนพัฒนาธุรกิจรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว บล็อกเชน ICO เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ ก.ล.ต. มีแผนรองรับ ทำงานร่วมกับแบงก์ชาติ, ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทุก ๆ เรื่อง จึงต้องจ้างบุคคลที่ 3 มาร่วมทำงาน วางแผนร่วมกัน คาดทำงานต่อเนื่องถึงปีหน้า ในการกำหนดโครงร่างหรือขอบเขต (เฟรมเวิร์ก) ในการกำกับดูแล และ ก.ล.ต. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนรู้งานในต่างประเทศด้วย


——-
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14-16 ธ.ค. 2560 หน้า 01+15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9