‘น้ำเมา’ อัดโปรเย้ยกฎหมาย! ดันยอดขาย

16 ธ.ค. 2560 | 08:26 น.
1520

จับตา! “ร้านเหล้า-เบียร์” เย้ยกฎหมาย กระหน่ำโปรแรง กระตุ้นยอดขายน้ำเมา ทั้งลด แลก แจก แถม พ่วงโฆษณาทางตรง ทางอ้อม หลังไร้ “หมอสมาน” กวดขัน

แม้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จะมีผลบังคับใช้มานานแล้ว แต่พบว่า ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้า สถานบันเทิง ก็ยังคงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 32 เรื่องของการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ เครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม รวมถึงมาตรา 30 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ การเร่ขาย การลดราคา เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย แจก แถม ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่เป็นไฮซีซัน ร้านค้า สถานบันเทิง จึงกระหน่ำจัดโปรโมชันอย่างหนัก เพื่อกระตุ้นการขาย ขณะที่ หน่วยงานที่คอยกำกับดูแล อย่าง สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เดิมมี น.พ.สมาน ฟูตระกูล เจ้าของฉายา ‘มือปราบน้ำเมา’ เป็นผู้อำนวยการ ถูกเด้งไปสังกัดหน่วยงานอื่น ทำให้ขาดมือไล่ล่าผู้กระทำผิด ก.ม.

ล่าสุด พบว่า มีร้านเหล้า ผับ บาร์ และร้านอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว ที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทั้งการจัดคอนเสิร์ต โดยมีการโฆษณาเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อออนไลน์ บิลบอร์ด เป็นต้น ควบคู่กับการจัดกิจกรรมลด แลก แจก แถม ไม่ว่าจะเป็น โปรเปิดเบียร์ชุด 4 ขวด 6 ขวด และ 10 ขวด ในราคาพิเศษ, โปรลดราคาวิสกี้ รับมิกเซอร์ฟรี, โปรแลกซื้อหรือแถมฟรีบัตรของขวัญ, โปรฟรีเครื่องดื่มราคาพิเศษทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ เป็นต้น


บาร์ไลน์ฐาน

“ร้านอาหารกึ่งผับดัง ชื่อย่อ พ. ถือเป็นอีกร้านที่วัยรุ่นนักดื่มให้ความนิยม ล่าสุด จัดโปรโมชันรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มครบ 500 บาท รับตราปั๊ม 1 ดวง สะสมครบ 5 ดวง รับเบียร์สิงห์, ลีโอ ทันที 1 โปร หรือ 4 ขวด หากสะสมครบ 12 ดวง รับทันทีโปรเหล้าเบลนด์ 258 หรือแสงโสม 1 โปร และหากครบ 18 ดวง รับทันทีโปรเหล้าเบลนด์ 285 หรือแสงโสม 1 โปร เช่นกัน”

ขณะที่ โปรโมชันที่ฮอตและนิยมจัดกันมากที่สุด เห็นจะเป็น Lady Night ที่มีการจัดโปรโมชันเฉพาะคุณสาว ๆ เพื่อให้สาว ๆ เข้ามาภายในร้าน ซึ่งถือเป็นการดึงดูดให้หนุ่มเข้ามาร้านเพิ่มเติมอีกด้วย เรียกว่า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้แบบ 2 ต่อเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดอีเวนต์จากการแข่งขันฟุตบอลลีกชื่อดังจากต่างประเทศ เพื่อนำมาถ่ายทอดสด พร้อมทั้งจำหน่ายเหล้า เบียร์ ซึ่งสามารถสร้างยอดขายพร้อมกับสร้างแบรนด์ลอยัลตีได้เป็นอย่างดี ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มักจะเห็นได้ตามเทศกาลเบียร์สดหรือเบียร์การ์เดน ซึ่งนอกจากถ่ายทอดบอลลีกแล้ว ยังมีการแสดงจากเหล่าศิลปินชื่อดัง, พริตตี้สาวสวย เข้ามาดึงดูด ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า แนวทางดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐนั้นก็ออกมาบอกว่า กิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการโฆษณาชักชวน ขณะที่ ฝ่ายผู้จัดงานก็สวนทันควันว่า การจัดงานดังกล่าวเพื่อการฉลองโดยไม่หวังผลกำไรเพียงเท่านั้น ซึ่งการที่ภาครัฐบอกว่า ผิดกฎหมายนั้น เป็นเพียงการตีความมาตรา 32 ที่ยังคลุมเครือและใช้ดุลพินิจมากเกินไป

 

[caption id="attachment_87994" align="aligncenter" width="335"] ธนากร คุปตจิตต์ ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ธนากร คุปตจิตต์
ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย[/caption]

ด้าน นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ นั้น ยังมีความคลุมเครือในบางประเด็น และพึ่งพิงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานมากเกินไป จึงขาดแนวทางในการปฏิบัติที่แน่นอน ทั้งยังเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ที่อาจสร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการตีความอย่างไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากเงินสินบนรางวัล ในขณะเดียวกัน ภาคประชาชนได้ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเนื้อหาสาระที่ดี แต่ขาดความชัดเจนในการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจและท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในเรื่องของวัน ช่วงเวลาการขาย โดยเฉพาะในเรื่องของความเข้าใจตรงกันในแง่ของการโฆษณา ข้อความอวดอ้างสรรพคุณ ข้อความที่มีภาพนักกีฬา ข้อความหรือภาพที่มีตราศิลปิน นักร้อง นักแสดง หรือการโฆษณาชักจูง เป็นต้น

“แน่นอนว่า หากภาครัฐมองเห็นปัญหาจากที่ทางสมาคมต้องการสื่อสารและเพื่อให้เกิดประโยชน์ในส่วนของกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งต่อผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และสังคมแล้วนั้น การแก้ไขกฎหมายลูกย่อมทำได้ ไม่ว่าจะเป็น การหาคนกลางหรือหน่วยงานกลางร่วมหารือในแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดและผู้บริโภค รวมไปถึงสังคมให้น้อยที่สุด ซึ่งรูปแบบการแสดงคอนเสิร์ตต่าง ๆ มองว่า หากไม่ได้มีการโฆษณาชักจูง ก็เชื่อว่า น่าจะสามารถทำได้”


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14-16 ธ.ค. 2560 หน้า 01+02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9