เปิด TOR ไฮสปีดเทรน ก.พ.นี้ สรรหาเอกชนลงทุนสายกรุงเทพฯ-ระยอง2.26แสนล.

16 ธ.ค. 2560 | 07:34 น.
บอร์ดร.ฟ.ท.ไฟเขียวแผนดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เตรียมออกทีโออาร์เชิญชวนเอกชนลงทุนได้ก.พ.61 ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 2.26 แสนล้านบาท ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและรอบสถานี เปิดใช้ได้ปี 2566

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้นำเสนอรายละเอียดผลการศึกษาโครงการ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด ร.ฟ.ท.) เห็นชอบไปแล้ว เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป

tp11-3322-a พร้อมทั้ง ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียดร่างประกาศเชิญชวนนักลงทุนหรือทีโออาร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนนี้ และพร้อมจะประกาศได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยคาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนที่ชนะการประมูลได้ในเดือนกรกฎาคมปีหน้า และลงนามในสัญญาได้ในเดือนกันยายน ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการภายในปี 2566

โดยผลการวิเคราะห์โครงการ พบว่า การพัฒนาโครงการช่วงสนามบินดอนเมืองถึงสนามบินอูตะเภาเป็นระยะเร่งด่วนถือว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากทางภาครัฐมีภาระงบประมาณลงทุนน้อยกว่า การพัฒนาช่วงสนามบินดอนเมืองถึงระยอง รวมถึงมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า อีกทั้งภาคเอกชนมีความเสี่ยงด้านการลงทุนน้อยกว่า ที่สำคัญโครงการสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์และกรอบเวลาของกนศ.ที่เห็นชอบไว้ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566

สำหรับกรอบเงินลงทุนของโครงการ จะแบ่งเป็นส่วนของรถไฟความเร็วสูงประมาณ 1.76 แสนล้านบาท และส่วนพัฒนาพื้นที่มักกะสันและการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.26 แสนล้านบาท

วิทยุพลังงาน ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะเป็นลักษณะการร่วมลงทุน(พีพีพี) โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าเครื่องกลรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟ ค่าจ้างที่ปรึกษา และการดำเนินงานเดินรถไฟและซ่อมบำรุง ตลอดระยะเวลาโครงการ ขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และจะทยอยให้การอุดหนุนเงินดำเนินโครงการเป็นรายปีในระยะยาว ในอัตราที่สอดคล้องกับกำลังงบประมาณของภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับผลตอบแทนทางการเงินที่จูงใจต่อการลงทุน โดยที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้เก็บรายได้จากค่าโดยสารและเป็นผู้รับความเสี่ยงในเรื่องรายได้

ส่วนระยะที่ 2 นั้น จะเป็นช่วงต่อขยายจากสนามบินอู่ตะเภาไประยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งจะดำเนินการหลังจากระยะแรกดำเนินงานแล้วเสร็จ

สำหรับรายละเอียดการศึกษาของโครงการเบื้องต้นนั้น จะเป็นทางรถไฟยกระดับขนาดทาง 1.435 เมตร รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 260 กิโลเมตร มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภาและระยอง ทุกสถานีติดตั้งประตูกั้นชานชาลา มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่ ฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ค่าโดยสาร City Line 13 บาท (แรกเข้า) + 2.0 บาทต่อกิโลเมตร และค่าโดยสาร HSR 80 บาท (แรกเข้า)+ 1.8บาทต่อกิโลเมตร เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9