ทำไมต่างชาติทิ้งหุ้นไทย!

17 ธ.ค. 2560 | 09:48 น.
นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2557 มาถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 ยกเว้นปี 2559 ที่มียอดซื้อสุทธิ 2,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติมองคนละมุมกับนักลงทุนไทย ที่มีความหวังว่าดัชนีหุ้นจะทะลุ 1,800 จุดไปได้ในปีหน้า ด้วยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่คาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 4%

แต่อย่าลืมว่าโลกของการลงทุนเปิดกว้างไปทั่วโลก ที่ไหนมีของดีราคาถูก เงินลงทุนก็จะเฮโลไปที่นั่น และมีสินค้าให้เลือกซื้อมากมาย การลงทุนไม่ใช่มีเพียงหุ้น ตราสารหนี้ และ ทองคำอีกต่อไปแล้ว ตลาดที่อุปโลกน์ขึ้น บิตคอยน์ หรือ สกุล เงินดิจิตอลเติบโตก้าวกระโดด สร้างกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาอันสั้น และยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

M1833212-1c หากพิจารณาเฉพาะหุ้นที่หลายตลาดไม่หยุดสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทำไมตลาดหุ้นไทย ดัชนีขึ้นไปถึง 1,700 จุด ก็เจอแรงขายทำกำไร เป็นเพราะเหตุใด

เราต้องกลับมามองว่าหุ้นไทยน่าสนใจตรงไหน และทำไมต่างชาติถึงขายสุทธิ 1,091 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 และทิ้งหนักๆ อีก 4,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 ส่วนปีนี้ ยังขายอย่างต่อเนื่อง และเงินไหลเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม และอินเดีย สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติมีมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นของเราไม่เหมือนนักลงทุนไทยที่มองบวก

[caption id="attachment_228498" align="aligncenter" width="362"] ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย[/caption]

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน นักลงทุนต่างชาติ มีการขายสุทธิในตลาดหุ้นเอเชียหลายตลาด ได้แก่ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไทย และฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 1.4% จากเดือนก่อนสอดคล้องกับทิศทางของ ตลาดเกิดใหม่ (emerging market)

“เดือนพฤศจิกายน นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 18,894 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีมียอดขายุสทธิ 17,067 ล้านบาท แต่ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,697.39 จุด เพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปี 2559 โดย มี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าดัชนีหุ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มบริการ กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มธุรกิจการเงิน ตามลำดับ”

ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 2.89% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียที่อยู่ที่ 2.53% และสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นพี/อี) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 17.05 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.75 เท่า

ทั้งนี้ ต่างชาติขายหุ้นไทย แล้วทำไมถึงเลือกลงทุนในตลาดเพื่อนบ้านแทน เป็นคำถามที่จะต้องรีบหาคำตอบก่อนที่ตลาดหุ้นไทยจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เรามีหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีให้เลือกลงทุนน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้จริง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9