2 อดีต กกต. พ้นคุก! ‘วาสนา-ปริญญา’ เฮ พร้อมผู้ต้องขัง 283 ราย

15 ธ.ค. 2560 | 11:03 น.
1756

อดีต กกต. “วาสนา-ปริญญา” เฮ! พ้นเรือนจำ ได้พักโทษก่อนกำหนดกว่า 5 เดือน พร้อมผู้ต้องขัง 283 ราย ส่วน “สนธิ” ยังไม่เข้าเกณฑ์

ฐานการเมือง |
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการพักการลงโทษ ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 3/2561 โดยมี นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม โดยมีคณะกรรมการพักการลงโทษจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมคุมประพฤติ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงาน ป.ป.ส., กรมการปกครอง, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, กรมสุขภาพจิต, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมพิจารณา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้พักการลงโทษนักโทษเด็ดขาด จำนวน 283 ราย รวมทั้ง น.ช.ปริญญา นาคฉัตรีย์ อายุ 76 ปี อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ น.ช.วาสนา เพิ่มลาภ  อายุ 76 ปี อดีต กกต. ที่ต้องโทษคดีกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยสุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งทั้งคู่ได้ต้องโทษจำคุกมาแล้ว 1 ปี 6 เดือน 13 วัน โดยทั้ง 2 ราย ต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขการคุมประพฤติของสำนักงานคุมประพฤติ ตามโทษจำคุกที่เหลือ เป็นเวลา 5 เดือน 22 วัน


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังที่ขอรับการพักการลงโทษทั้งหมด 4,506 ราย จากทั่วประเทศ และได้รับการอนุมัติการพักการลงโทษ เป็นจำนวน 2,636 ราย คิดเป็น 57.98% จากผู้ขอรับพักการลงโทษทั้งหมด การพักการลงโทษ ถือเป็นการปลดปล่อยออกไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนดการพักการลงโทษ มิใช่สิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่ทางราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำหรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ การพักการลงโทษจึงถือเป็นการให้โอกาสผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีจะสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมได้ก่อนกำหนดต้องโทษ

สำหรับ พล.ต.อ.วาสนา และนายปริญญา ถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 24 และ 42 กรณีที่ไม่เร่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่า จ้างพรรคแผ่นดินไทยและพรรคพัฒนาชาติไทยลงรับสมัครเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการวินิจฉัย พ.ศ. 2542

กระทั่งหลังวันเลือกตั้งได้ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเร่งรีบ ซึ่งจะมีผลให้ทางพรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาล โดยศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2559 ให้จำคุกทั้ง 2 คน คนละ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี


tp16-3322-a

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนักโทษชราคดีดังที่ยังถูกคุมขังและไม่ได้รับการพักโทษ เนื่องจากคุณสมบัติยังไม่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษในฐานะผู้ต้องขังชรา มีอายุ 70 ปีขึ้นไป หลังรับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษ อาทิ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ต้องขังคดีร่วมกันลงข้อความในเอกสารเท็จของ บริษัท มีเดีย กรุ๊ป จำกัด ขัด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทยกว่า 1,000 ล้านบาท โดยศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 20 ปี เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2559 ปัจจุบัน ถูกคุมขังอยู่ที่แดน 7 ในเรือนจำกลางคลองเปรม มีอาการป่วยตาข้างซ้าย จากเหตุการณ์ถูกลอบยิงเมื่อปี 2552 ซึ่งยังไม่เข้าเกณฑ์ขอพักการลงโทษ โดยเกณฑ์การพักโทษกำหนดว่า ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วอย่างน้อย 2 ใน 3 เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ หากป่วยหนักหรือพิการจะอยู่ในเกณฑ์ก็ต่อเมื่อตาบอด 2 ข้าง แขนขาด 2 ข้าง หรือขาขาด 2 ข้าง

เช่นเดียวกับ กรณีนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานบอร์ดบริหาร ธนาคารกรุงไทย ผู้ต้องขังในคดีปล่อยกู้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ที่ถูกศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก คนละ 18 ปี เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 ยังไม่อยู่ในข่ายได้รับการอภัยโทษเช่นกัน โดยคดีดังกล่าว มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 แต่นายทักษิณหลบหนีคดี ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว

อีกราย พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ ‘ผู้พันตึ๋ง’ ผู้ต้องหาเด็ดขาดในคดีฆาตกรรม, นายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เมื่อปี 2544 ต้องกลับไปรับโทษตามระยะเวลาการพักโทษที่เหลืออยู่ประมาณ 2 ปี 9 เดือน เนื่องจากทำผิดเงื่อนไขระหว่างการพักโทษ หลังถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางบางขวาง ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นผู้ต้องขังโทษประหารชีวิต แต่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว 4 ครั้ง เหลือโทษ 17 ปี 24 วัน หลังถูกจำคุกมาแล้ว 14 ปี โดย ‘ผู้พันตึ๋ง’ ได้รับการพักการลงโทษตามเงื่อนไข คือ เป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ได้รับโทษมาแล้วเกิน 2 ใน 3 เหลือระยะเวลาพักการลงโทษ 2 ปี 9 เดือน 15 วัน


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่  37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14-16 ธ.ค. 2560 หน้า 16

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9