‘หัวเว่ย’ลั่น 3 ปีครองตลาดโลก อวดยอดขาย 73 ล้านเครื่องโตพรวด36.2%

16 ธ.ค. 2560 | 09:16 น.
“หัวเว่ย” อวดยอดขายโตเกือบ 10 เท่า เผยจำหน่ายไปแล้ว 73 ล้านเครื่อง รั้งมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ตลาดโลก ด้วยกลยุทธ์ 4 เสาหลักและโมเดลธุรกิจสร้างความแตกต่าง ตั้งเป้าปี 63 ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในตลาดโลก ขณะที่ “เอชเอ็มดี” เปิดตัวโนเกีย 2 ชูจุดขายหน้าจอ 5 นิ้ว พร้อมแบตอึด ทน

นายทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอน ซูมเมอร์ บิสสิเนสกรุ๊ป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนหัวเว่ยครึ่งแรกของปี 2017 ในตลาดโลกนั้นเติบโตอยู่ที่ 36.2% ด้วยจำนวนกว่า 73 ล้านเครื่องหรือคิดเป็น 20.6% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับโลกเพิ่มขึ้น 11.3% จาก 9.3% สำหรับมูลค่ารายได้ของสมาร์ทโฟนหัวเว่ยในไทยนั้นเติบโต 400% ด้วยยอดขายจำนวนเครื่องที่เติบโตกว่า 720% และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากปีที่ผ่านมาได้ถึงเกือบ 10 เท่า จาก 1.2% เป็น 10.7% เรียกได้ว่าขณะนี้ หัวเว่ย อยู่ในอันดับ 2 ของตลาดระดับโลก และขึ้นลงอยู่ที่อันดับ 2-4 ในตลาดประเทศไทย สำหรับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยนั้นมีทั้งระดับบน กลางและล่าง ด้วยจำนวนลูกค้าในสัดส่วน 30 : 30 : 40 และต้องการที่จะขยับฐานลูกค้าส่วนล่างขึ้นมาให้อยู่ในระดับกลางเป็น 30 : 40 : 30

MP20-3322-1 นายทศพร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกลยุทธ์หลักที่สำคัญของหัวเว่ยคือเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภค การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการรักษาคุณภาพที่ได้มาตรฐานระดับโลก การร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำของโลก และการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนอกจากปัจจัยทั้ง 4 ด้านแล้ว สิ่งที่ทำให้หัวเว่ยแตกต่างจากแบรนด์อื่นคือ โมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Global Innovation Hive ซึ่งประกอบด้วย 1. การดำเนินธุรกิจในรูปแบบของบริษัทเอกชน (Privately Held) ซึ่งช่วยให้หัวเว่ยสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว 2. การใช้องค์ความรู้โดยรวม (Collective Wisdom) โดยหัวเว่ยจะผลัดเปลี่ยนซีอีโอ 3 ท่านทุกๆ 6 เดือนในการดำรงตำแหน่งเพื่อป้องกันการสั่งงานและการตัดสินใจแบบเผด็จการ 3. การให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจ (Employee-Owned) เพื่อสร้างแรงจูงใจ และการกระตุ้นการทำงานของพนักงาน 4. การเปิดรับองค์ความรู้ใหม่จากทั่วโลก (Open Integration) โดยหัวเว่ยสร้างโอกาสในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ จากความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของพนักงานทั่วโลก พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2563 จะขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ด้วยยุทธศาสตร์จากองค์ประกอบของ 4 เสาหลัก คือ 1. Innovation หรือ นวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญขององค์กร 2. Quality หรือคุณภาพ ที่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญและเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น 3. Openness หรือ การเปิดรับความคิดเห็นของผู้บริโภค สิ่งที่คนไทยชอบ ไลฟ์สไตล์ ที่เริ่มฟังและเข้าใจจากระดับโกลบัลแบรนด์มาสู่โลคัลแบรนด์ รวมถึงบุคลากรที่มีความสามารถในองค์กร และพาร์ตเนอร์ต่างๆ จากนั้นนำมาปรับปรุงในด้านการบริหาร การพัฒนานวัตกรรม และการให้บริการ และสุดท้าย 4. Social Responsibility คือ การตอบแทนสังคม เพื่อสร้างการยอมรับในแบรนด์ของ หัวเว่ย ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งทั้ง 4 เสาหลักดังกล่าว นำมาใช้เพื่อพัฒนาเป็นกลยุทธ์

อ๊ายยยขายของ-7-1 “สำหรับเทรนด์และความสนใจของคนไทย ตอนนี้จะเริ่มปรับเปลี่ยนจากโกลบัลมาเป็นโลคัลมากขึ้น คนไทยเริ่มคุยเรื่องการออกกำลังกาย และมองหาเทคโนโลยี หรือดีไวซ์ต่างๆ มาตอบสนอง เราจะไม่พูดถึงเรื่องสเปกแต่จะพูดถึงการตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของผู้บริโภคชาวไทย ดังนั้นการจัดโปรโมชันหรือแคมเปญต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เทรนด์ของสมาร์ทโฟนในอนาคตจะมีเรื่องของ AI (Artificial Intelligence) หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอาจจะเป็นโอเพนซอร์ซที่เปิดให้กับนักพัฒนาเข้ามาร่วมพัฒนา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะเข้าสู่ยุค IoT (Internet Of Things) ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่สำคัญของปี 2018” นายทศพร กล่าว

ขณะที่นายซานดีฟ กุพทา ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค บริษัทเอชเอ็มดีโกลบอลฯ เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนแบรนด์โนเกีย (Nokia) ทั่วโลกแต่เพียงผู้เดียว เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้นำสมาร์ทโฟน โนเกีย 2 เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว โดยเครื่องรุ่นดังกล่าว มาพร้อมหน้าจอ 5 นิ้ว กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล เป็นระบบปฏิบัติการสามารถอัพเดตซอฟต์แวร์ เช่น Google Assistant แต่ไม่มีการตั้งค่าล่วงหน้า เปิดตัวมาพร้อมกับ Android Nougat และรองรับการอัพเดตเป็น Android Oreo ที่สำคัญแบตเตอรี่ อึด ทน ใช้ได้นานถึง 2 วัน วางจำหน่ายในเมืองไทย 3 สี ได้แก่ สีเงิน-ดำ (Pewter/Black) สีเงิน-ขาว (Pewter/White) and สีทองแดง-ดำ (Copper/Black) ในราคา 3,490 บาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว