ปิดฉากคอนซูเมอร์ปี 58 ฝ่าวิกฤติกำลังซื้อลดกลับมาโต 2-3%

01 ม.ค. 2559 | 01:30 น.
สินค้าคอนซูเมอร์ หรือสินค้าอุปโภคบริโภค แม้เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ยอดขายก็ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ที่ส่งผลต่อเนื่องทำให้กำลังซื้อที่ลดลง ผนวกเข้ากับปัญหาภัยแล้งที่ซ้ำเติมให้ภาคการเกษตรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีปัญหา ยิ่งฉุดให้กำลังซื้อลดน้อยลงไปอีก จนรัฐบาลต้องอัดสารพัดมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจและบรรยากาศ ให้คนที่ยังมีกำลังซื้อ แต่ไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ กล้าออกมาจับจ่าย จนทำให้ตลาดสินค้าคอนซูเมอร์รอบปี 2558 สามารถปิดยอดด้วยตัวเลขที่เป็นบวก และถือว่าดูดี หากเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก ที่หลายฝ่ายประเมินว่า ตลาดจะไม่เติบโต

ตลาดผ่านจุดต่ำสุด

"บุญฤทธิ์ มหามนตรี" ประธาน บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ ชี้ว่า ตลาดคอนซูเมอร์ในรอบปี 2558 สามารถปิดฉากลงได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยน่าจะเติบโต 2-3% จากเดิมที่คาดว่าจะไม่เติบโต ซึ่งเป็นผลจากช่วงครึ่งปีหลังที่บรรยากาศกำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น มาตรการภาครัฐที่พยายามผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี

สำหรับรอบปี 2558 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ภาวะตลาดได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว ในปี 2557 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของธุรกิจคอนซูเมอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่สามารถจะหวังให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือเติบโตในอัตราสูงได้ นับจากนี้จะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะแม้ว่าสถานการณ์หลายอย่างจะปรับตัวดีขึ้น แต่อนาคตอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

อานิสงส์ช็อปช่วยชาติ

ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้ตลาดคอนซูเมอร์ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น คือ นโยบายการซื้อสินค้า 15,000 บาท สามารถไปใช้เป็นลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้ ถือว่าตลาดกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ได้รับอานิสงส์บ้าง เพราะเป็นสินค้าที่ซื้อสามารถเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ แต่อาจจะไม่เทียบเท่ากับสินค้าในกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นสินค้ามีมูลค่ามาก แต่ผลทางอ้อมก็ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ร้านค้า ร้านอาหาร มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจ ถือว่าเป็นอีกมาตรการสำคัญที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ไม่สามารถใช้มาตรการใดเพียงมาตรการเดียวได้ จะต้องมีมาตรการมาเสริมซึ่งกันและกัน

ปี 59 ยังมีหลากปัจจัยเสี่ยง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปี 2559 หลายฝ่ายยังมองว่าจะเริ่มปรับตัวที่ดีขึ้น จากปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยงบประมาณที่ใส่ลงไปในโครงการต่างๆ เริ่มเห็นผลมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังไม่มีความแน่นอน ทั้งในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาความไม่สงบและความรุนแรง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่มีผลกระทบมาถึงประเทศไทย และเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจภายนอกประเทศจะกระทบในเรื่องภาวะการส่งออก และปัญหาความไม่สงบและความรุนแรง จะมีผลต่อภาวะการท่องเที่ยวของไทย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ยังเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของภูมิอากาศ และปัญหาภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร และราคาสินค้าเกษตรที่จะตามมา ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฐานล่างของประเทศลดลง และส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมตามมาด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยยังต้องพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แข่งนวัตกรรมสินค้า

ขณะที่ภาวะการแข่งขันธุรกิจคอนซูเมอร์ ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมายังคงรุนแรง ผู้ประกอบการต่างหาสารพัดวิธีในการเรียกกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชันลดราคา การซื้อ 1 แถม 1 หรือการจัดรายการส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่เพียงแต่ปัจจัยเรื่องกำลังซื้อที่ชะลอตัว แต่ภาวะการแข่งขันของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคโอเวอร์ซัพพลาย ปริมาณสินค้าและคู่แข่งทางการค้ามีเพิ่มมาก ทั้งตลาดภายในประเทศและจากต่างประเทศที่เข้ามามากขึ้น กลยุทธ์พื้นฐานทางการตลาดจึงยังคงถูกหยิบมาใช้อย่างต่อเนื่อง และมีต่อไปเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้เพื่อการแข่งขันในอนาคต ต่อไปจะไม่ใช่แค่กลยุทธ์ทางการตลาดพื้นฐานเท่านั้น แต่จะต้องแข่งขันกันการสร้างความแตกต่างและความโดดเด่น สิ่งหนึ่งคือการแข่งขันกันสร้าง "นวัตกรรม" ที่แตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภค เพื่อมัดใจให้อยู่กับแบรนด์ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพราะหากไม่แตกต่างและมีความโดดเด่น ผู้บริโภคก็ไม่ให้ความสนใจอีกต่อไป

เออีซีโอกาสและความท้าทาย

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2559 นับว่าเป็นโอกาสและความท้าทายให้กับสินค้าคอนซูเมอร์ แม้ว่าผู้ประกอบการจำนวนมากจะปรับตัว และเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้วก็ตาม แต่ความชัดเจนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก็ส่งผลให้บรรยากาศการค้าขายของประเทศไทยและเพื่อนบ้านดูดีมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าไทยเป็นที่นิยมและชื่นชอบกับกลุ่มลูกค้าในเออีซี นับจากนี้การทำตลาดและการแข่งขันระหว่างกัน จะเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น การเคลื่อนย้ายทุนในรูปแบบต่างๆ คงเพิ่มมากขึ้นจากอดีต ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสร้างยอดขายได้มากขึ้น หากจับตลาดได้ถูกต้อง ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายความสามารถของผู้ประกอบการ หากศักยภาพและความสามารถไม่มากพอ

ในที่สุดแล้วปี 2558 ธุรกิจคอนซูเมอร์ก็ถือว่าผ่านพ้นไปได้ด้วยดีกว่าที่คาด แม้ว่าจะไม่ดีเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติทางการเมืองในประเทศก็ตาม แต่หากจะมองบวกก็ถือว่าเป็นช่วงของการปรับฐานธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อจะเติบโตต่อไปในอนาคต และช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นบทพิสูจน์ให้กับ "มืออาชีพ" ตัวจริงเท่านั้นที่จะอยู่รอด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559