แอปเปิลเพย์หวังรุกต่างประเทศ แข่งขันผู้ให้บริการในท้องถิ่น

02 ม.ค. 2559 | 10:00 น.
หลังจากแอปเปิล เพย์ เริ่มต้นในตลาดสหรัฐฯ อย่างไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรตลอดกว่า 1 ปีที่เปิดให้บริการ แอปเปิลจึงตั้งความหวังกับการรุกเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ในปี 2559 อย่างจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และสเปน ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับโมบายเพย์เมนต์มากกว่า

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แอปเปิลหวังพึ่งพาชื่อเสียงของแบรนด์ ในการนำบริการโมบายเพย์เมนต์ แอปเปิล เพย์ รุกเข้าสู่ตลาดใหม่ที่บริโภคคุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์โมบายในการชำระเงินในการซื้อสินค้าตามร้านค้ามากกว่าในตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การรุกสู่ตลาดต่างประเทศไม่ใช่งานง่ายสำหรับแอปเปิล เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันกับธนาคารและบริษัทท้องถิ่นที่เปิดให้บริการในลักษณะเดียวกันอยู่แล้ว

"มีโอกาสอยู่มากสำหรับแอปเปิล เพราะแบรนด์ของพวกเขาเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง ความท้าทายของแอปเปิลคือจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่" แธด ปีเตอร์สัน นักวิเคราะห์อาวุโสของไอท์ กรุ๊ป ให้ความเห็น
ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิล คาดหวังว่าปี 2558 จะเป็นปีแห่งแอปเปิล เพย์ อย่างไรก็ดี บริการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควรในตลาดสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการประชาสัมพันธ์และมีร้านค้าจำนวนจำกัดที่รองรับระบบแอปเปิลเพย์ ขณะที่การตอบรับในอังกฤษ ซึ่งแอปเปิลเพย์เริ่มเปิดให้บริการในช่วงกลางปี เป็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่า โดยได้รับอานิสงส์จากการที่ระบบปฏิบัติการของแอปเปิลครองตลาดถึงเกือบ 40% ในอังกฤษ

สำหรับในปี 2559 แอปเปิลมีแผนรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือตลาดจีน ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการในช่วงต้นปี ข้อมูลจากแมคเคนซีย์ แอนด์ โค ระบุว่า ชาวจีนกว่า 235 ล้านคนที่อายุเกิน 15 ปีไม่มีบัญชีธนาคาร ระบบโมบายเพย์เมนต์จึงกลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการส่งและรับเงิน

เอ็ดดี้ คิว รองประธานอาวุโสฝ่ายซอฟต์แวร์และบริการอินเตอร์เน็ตของแอปเปิล กล่าวว่า แอปเปิลได้ทำความตกลงกับธนาคาร 15 แห่งในจีน อาทิ แบงก์ออฟไชน่า แบงก์ออฟเซี่ยงไฮ้ และแบงก์ออฟกวางโจว เป็นที่เรียบร้อย "จีนเป็นตลาดที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับแอปเปิล" คิวกล่าว

อย่างไรก็ตาม แอปเปิล เพย์ จะต้องแข่งขันกับบริการจากวีแชต และอาลีเพย์ ของอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อาลีบาบา ซึ่งครอบครองตลาดโมบายเพย์เมนต์ของจีนกว่า 75% นอกจากนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า แอปเปิลจะต้องเตรียมตัวแข่งขันกับซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ที่ประกาศจับมือกับยูเนี่ยนเพย์เพื่อนำบริการโมบายเพย์เมนต์ ซัมซุงเพย์ เข้ามารุกตลาดจีนในช่วงต้นปี 2559 เช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากตลาดจีนแล้ว แอปเปิลกล่าวว่า ผู้ใช้งานบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสในฮ่องกง สิงคโปร์ และสเปน จะสามารถใช้บริการแอปเปิลเพย์ได้ในปี 2559 เป็นการขยายตลาดต่อจากออสเตรเลียและแคนาดาที่ผู้ใช้งานบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสบางส่วนสามารถชำระเงินผ่านแอปเปิลเพย์ได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558

ความท้าทายขั้นต่อไปในการขยายตลาดในออสเตรเลียนั้น แอปเปิลจะต้องได้รับความร่วมมือจากธนาคารท้องถิ่นที่มีบริการโมบายเพย์เมนต์ของตนเองอยู่แล้ว เช่น คอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย มีแอพพลิเคชันในระบบไอโอเอสให้ผู้บริโภคใช้งานมาแล้วร่วม 2 ปี โดยผู้ใช้งานแอพพลิเคชันดังกล่าวสามารถเก็บข้อมูลบัตรสมาชิก โอนเงิน ส่งเงินข้ามประเทศ หรือแม้แต่ถอนเงินออกจากเอทีเอ็ม

"แทบจะไม่มีแรงจูงใจให้ธนาคารขนาดใหญ่ของออสเตรเลียปล่อยให้แอปเปิลเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานของพวกเขา หรือหักค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม" โฟอาด ฟาดากี กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคม เทลไซต์ ให้ความเห็น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559