2558 ปีแห่งชีวิตคนไทย เริ่มเข้าสู่วิถีดิจิตอล

01 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
ปีที่ผ่านมาการขยายตัวของผู้ใช้บริการโมบายอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นคนไทยขยับก้าวเข้าสู่ "ชีวิต ดิจิตอล" หรือ "ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์" ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย จนไทยติดกลุ่มประเทศที่มีการใช้งานเฟซบุ๊กสูง โดยมีผู้ใช้งานแบบแอกทีฟ มากกว่า 34 ล้านคนต่อเดือน และมากกว่า 24 ล้านคนต่อวัน และ 32 ล้านคน (คิดเป็น 94%) ของผู้ใช้งาน ใช้งานผ่านมือถือซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ ในการติดต่อสื่อสารของคนไทย ที่ไทยมีผู้ใช้รวมทั้งสิ้น 33 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น

นอกจากนี้ผู้ใช้โมบายอินเตอร์เน็ตไทย ยังนิยมเสพความบันเทิง ทั้งดูหนัง ฟังเพลง หรือ อ่านอี-บุ๊ก, เลือกรับชม และช็อปสินค้าออนไลน์ และการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ผ่านอุปกรณ์โมบายมากขึ้น

แอพฯบริการ ผุดเป็นดอกเห็ด

ขณะเดียวกันจากฐานผู้ใช้โมบายอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ยังผลักดันให้เกิดระบบนิเวศ หรือ อีโคซิสเต็มขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้จากมีแอพพลิเคชันบริการต่างๆ รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อาทิ แอพพลิเคชันบริการเรียกแท็กซี่ แอพพลิเคชันบริการซื้อของสดจากซูเปอร์มาร์เก็ต แอพพลิเคชันบริการดูหนังและฟังเพลงออนไลน์

โดยบริษัทไอดีซี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง Thailand Mobile Content Market Study 2015 พบว่า ตลาดคอนเทนต์และแอพพลิเคชันบนมือถือในไทยมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้การใช้งานส่วนใหญ่จะพบมากในด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กและด้านความบันเทิงเป็นหลักก็ตาม

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน และมีจำนวนผู้ใช้งานมือถือบนเครือข่าย 3G และ 4G ที่มากรวมกันทั้งสิ้น 87.5 ล้านเลขหมาย จึงส่งผลให้ตลาดคอนเทนต์บนมือถือมีศักยภาพในการเติบโตสูงและเป็นตลาดที่น่าลงทุนสำหรับผู้พัฒนาแอพพลิเคชันในไทยและจากต่างประเทศ

จากรายงานตัวเลขของไอดีซีพบว่า จำนวนผู้เข้าใช้งานแอพพลิเคชันบนมือถือทุกวัน มีทั้งสิ้น 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 37% ของจำนวนประชากรไทย โดยแอพพลิเคชันที่มีการเข้าใช้งานส่วนใหญ่คือ เฟซบุ๊ก, ไลน์, วอทส์แอพ, กูเกิล แมป ทริปแอดไวเซอร์ อะโกด้า ยูทูบ เกม วิดีโอ และ การฟังเพลงบนมือถือ

ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ที่ใช้งานแอพพลิเคชันโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ทั้งสิ้น 22 ล้านคน ถือเป็นอัตราที่สูงสุดเมื่อเทียบกับการเข้าใช้งานแอพพลิเคชันด้านอื่นๆ ในส่วนของแอพพลิเคชันด้านความบันเทิงนั้น มีจำนวนผู้ที่เข้าใช้งานทุกวันเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ล้านคน

นอกเหนือจากแอพพลิเคชันเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กและด้านบันเทิงแล้ว โมบายช็อปปิ้งก็เป็นอีกหนึ่งแอพพลิเคชันที่กำลังได้รับความนิยมในไทย ซึ่งมีผู้ใช้คิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด ส่วนการใช้งานแอพพลิเคชันอื่นๆ เช่น โมบายแบงกิ้ง โมบายคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว รีวิวร้านอาหาร และ สุขภาพ ยังคงมีอัตราการใช้งานที่น้อยอยู่

ตลาดแอพฯไทยมูลค่า 1.98 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ยังมองว่าตลาดแอพพลิเคชันบนมือถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่สูง โดยในปีที่ผ่านมานั้น รายได้ที่เกิดจากแอพพลิเคชันบนมือถือ มีมูลค่าสูงถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.98 หมื่นล้านบาท (คิดที่ 33 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากการเก็บค่าโฆษณาในแอพพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 42% ของรายได้ในตลาดทั้งหมด

การขยายตัวของการใช้งานโมบายอินเตอร์เน็ตยังทำให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ต่างออกมาระบุว่า การเข้าถึงเว็บไซต์มากกว่า 602% มาจากช่องทางโมบาย เนื่องจากช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกดู หรือช็อปสินค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นการขยับของธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล เซเว่นอีเลฟเว่น (Shopat7.com) ขยับมารุกการขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น ขณะที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงคอนซูเมอร์ทั่วไป เริ่มเห็นโอกาสทำธุรกิจ เข้าช่องทางเฟซบุ๊กโฆษณา และขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์มากขึ้น

คนไทยใช้เน็ตวันละ 8.3 ชั่วโมง

โดยข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยประจำปี 2558 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า ระบุว่าพฤติกรรมที่น่าสนใจจากการสำรวจคือ คนไทยมีการใช้เวลาในการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 8.3 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมปีที่ผ่านมา 7.7 ชั่วโมงต่อวัน และพฤติกรรมที่พบจากการสำรวจเชิงลึกคือ คนในยุคเบบี้ บูมเมอร์ อายุตั้งแต่ 51-69 ปี มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีเวลามากขึ้น ที่สำคัญกลุ่มดังกล่าวยังเป็นกลุ่มคนทำงาน และผู้เกษียณอายุ ที่มีกำลังซื้อสูง และนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ โดยสินค้าที่นิยมซื้อมากสุดคือ แพ็กเกจท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วน 39% โดยมีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตมากสุด คือ 51.5%

อย่างไรก็ตาม พบว่าคนกลุ่มดังกล่าวมีการรับรู้ในเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล น้อยกว่าคนในยุคเจน เอ็กซ์ และเจน วาย โดยยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ข้อมูลบัตรเครดิต ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ขณะที่คนในรุ่นใหม่ ค่อนข้างระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลในการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐ จะต้องไปกำหนดนโยบายสร้างการรับรู้เรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลกับกลุ่มคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ต่อไป

สำหรับผลการสำรวจด้านอื่นๆ พบคนในยุคนี้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกันมากที่สุดถึงตลอด 24 ชั่วโมง โดยกิจกรรมยอดนิยมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ อันดับ 1) ได้แก่ บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 82.7 %

ศก.ดิจิตอลฯกระตุ้นธุรกิจตื่นตัว

นอกจากนี้นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ดิจิตอล หรือ ดิจิตอลอีโคโนมี ของรัฐบาล ยังสร้างกระแส กระตุ้นให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี หันมาใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ และก้าวสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขัน การขยายตลาด และมองโอกาสทางธุรกิจใหม่ ขณะเดียวกันภาคธนาคารก็หันมารุกบริการอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งมากขึ้น โดย ธนาคารกสิกรไทย ออกมาประกาศชัดเจนผลักดันกลยุทธ์ดิจิตอล แบงกิ้ง เต็มรูปแบบ ด้วยคอนเซ็ปต์ "ไลฟ์สไตล์ ดิจิตอล เอ็กซ์พีเรียน" (Lifestyle Digital Experiences) ที่จะมุ่งพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าลูกค้าใหม่เพิ่มอีก 4 ล้านราย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559