ทางออกนอกตำรา : คนไทยจะพ้นความยากจน

10 ธ.ค. 2560 | 10:44 น.
 

1512898408504 home รายงานแนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะยาว หรือ Riding the Wave: An East Asian Miracle for the 21st Century จัดทำโดยธนาคารโลกครั้งล่าสุด มีสาระสำคัญบ่งชี้ว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กำลังเป็นผู้นำที่แสดงวิธีให้เห็นว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วและการมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจจะช่วยลดความยากจนอย่างชัดเจนได้ ซึ่งช่วยให้คนเกือบล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน!!!

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งยวด ประเทศไทยซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซีย ได้เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่งแล้ว...

ทันทีที่รายงานฉบับนี้ออกมา ผู้บริหารในองค์กรของภาครัฐ ต่างพอใจและยกให้เป็นข่าวดี เหมือนเมื่อครั้งที่ธนาคารโลกได้ปรับอันดับความยากง่ายทางธุรกิจเพิ่มขึ้น 20 อันดับเมื่อเดือนก่อน ครั้งนั้นทำให้นักการเมืองออกมาตีปี๊บด้วยความฮึกเหิม มั่นใจว่ามาตรการของรัฐบาลกำลังผลิดอกออกผล

ลืมไปว่ารายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลก มีเงื่อนไขที่ถือเป็นงานยากสุดๆ !!..
212
ข้อแม้ของธนาคารโลกในการจะพ้นจากความยากจน รัฐบาลต้องจัดทำโมเดลใหม่ในการสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาคอย่างยั่งยืน นั่นคือความเสมอภาค ลดความเหลื่อมลํ้า และการใช้เครื่องมือภาษี กับเครื่องมือทางการเงิน มาช่วยภายใต้ 3 แนวทางหลักคือ 1.การให้โอกาสด้านเศรษฐกิจกับผู้มีรายได้น้อย 2.การมีระบบการดูแลด้านสังคม สาธารณสุข ประกันสังคม และ 3.การส่งเสริมการออม ดูเหมือนง่ายแต่ปฏิบัติยาก

ทำไมจึงบอกว่าเป็นงานหิน ประการแรกความยากจนเกิดจากปัญหาสะสมมานาน ประชาชนถูกกดทับไว้ด้วยเครือข่ายนายทุนการเมือง การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อเพิ่มรายได้หรือช่วยให้ท้องอิ่ม มักมีวาระซ่อนเร้น หวังผลทางการเมือง ภายใต้ชื่อสวยหรูอย่าง โครงการประชารัฐ อาสาประชารัฐ กองทุนหมู่บ้าน ไม่ต่างจากโครงการ SML ธนาคารคนจน หรือโครงการเอื้ออาทรในอดีต
22-1 อีกส่วนเกิดจากความเชื่อมั่นรัฐบาลที่น้อยลงทุกที เนื่องจากข้อกล่าวหาผู้นำรัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องและพวกพ้องมากกว่าคนไทย ผู้นำอาจจะรู้หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันคือจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีที่มีมลทิน แถมเป็นแกนนำรัฐบาล จึงท้าทายจริยธรรมและธรรมาภิบาลปราบโกง นโยบายที่เคยเป็นจุดขายของรัฐบาลทหารเมื่อครั้งเข้ามาทำหน้าที่ช่วงปีแรกๆ

ในเมื่อความไม่มั่นใจพฤติกรรมผู้นำ กำลังถูกท้าทาย ความมั่นใจใน ครม.ประยุทธ์จึงเริ่มมีความไม่แน่นอน เป็นปัจจัยกลับมาบั่นทอนบรรยากาศการลงทุน เสถียรภาพรัฐบาลปีที่ 4 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถูกมองว่า อยู่ในสภาพไม่ต่างกับรัฐบาลพรรคการเมืองที่ใช้ประชานิยมหาเสียง การบอนไซชาวบ้านไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกำลังปรากฏอีกครั้งช่วงปลายรัฐบาลพิเศษที่กำลังหวังผลในการชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง…
NjpUs24nCQKx5e1A7rlrUjaSDpmcZ2yYpkX0syhLT79 จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่คนไทยจะยังไม่พ้นจากความยากจน ยิ่งคิดจะก้าวสู่ประเทศที่มีความมั่งคั่ง ยิ่งยาก...ยกเว้นมีรัฐบาลที่มองส่วนรวม เห็นแก่คนส่วนใหญ่ มากกว่าให้ความสำคัญกับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มพรรคพวก พี่น้อง กับกลุ่มธุรกิจผู้เป็นผู้สนับสนุนทุนทางการเมือง เน้นการแลกเปลี่ยนเงินกับอำนาจ พอถึงเวลาโยนเศษเนื้อให้ชาวบ้านในฤดูที่การเลือกตั้งกำลังจะมาถึง!!..

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มีความน่าสนใจ ระบุว่าวันนี้ประเทศไทยยังมีประชากรฐานราก ระดับล่าง ประมาณ 29 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากร ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร แรงงาน เอสเอ็มอี จำเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยการเพิ่มรายได้...

สภาพัฒน์มีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ว่าด้วยการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค มาเพิ่มรายได้ และเพิ่มการจ้างงาน ขณะเดียวกันก็เพิ่มหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน คู่ขนานกับการสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ รองรับผู้สูงอายุ

ข่าวดีก็คือประเทศไทยมีแผนเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมลํ้า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้ความสำคัญ หยิบฉวยมาใช้หรือไม่ หากจริงจังในการยกระดับประเทศ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม แต่หากทำงานแบบสร้างภาพ ปกป้องผลประโยชน์ส่วนพรรคพวก มุ่งทำลายล้างศัตรูทางการเมือง ไม่ต้องพูดถึงก้าวสู่ประเทศที่มีความมั่งคั่ง แค่ทำให้คนไทยพ้นจากเส้นยากจน ก็ยากตั้งแต่

คิดแล้ว...

อย่าให้จุดขายเมื่อครั้งอาสาบากหน้าเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งพ่วงขจัดการโกง สวิงกลับมาทิ่มแทงตัวเอง นำพาประเทศคืนสู่ต้นตอความยากจน เป็นความยากจนที่คนฐานราก มักจะได้รับส่วนแบ่งจากความมั่งคั่ง เป็นเศษเนื้อข้างเขียงยังกับเป็นขอทานเลย

เพราะถ้าไม่หยุดทางเดินแบบเดิมๆ มุมมองของธนาคารโลกที่เชื่อว่าไทยติดกลุ่มประเทศที่จะไปถึงการก้าวสู่ความมั่งคั่ง จะเป็นเพียงแค่ฝันกลางวัน!!!...

......................
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3321 ระหว่างวันที่ 10-13 ธ.ค.2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว