นิด้าโพลเผยประชาชนอยากให้ปลดล็อคพรรคการเมืองและรับได้หากเลื่อนเลือกตั้ง

10 ธ.ค. 2560 | 06:09 น.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปลดล็อคพรรคการเมืองกับการเลื่อนการเลือกตั้ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2560 โดยสอบถามความคิดเห็น จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการไม่ปลดล็อคให้พรรคการเมืองซึ่งอาจจะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกินร้อยละ 1.4

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ การปลดล็อคให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมของพรรคเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งปลายปี พ.ศ. 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.60 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ แต่ละพรรคการเมืองจะได้มีการเตรียมตัว เตรียมนโยบายของพรรค เพื่อใช้ในการหาเสียง เป็นแรงกระตุ้นในการระดมความคิดของนักการเมือง เกิดความเป็นธรรม และความเป็นอิสระต่อพรรคการเมือง ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อที่จะทำให้บ้านเมือง เศรษฐกิจดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศว่ารัฐบาลไทยมาจากการเลือกตั้ง

รองลงมา ร้อยละ 17.60 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ยังไม่สงบเรียบร้อยดี อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่มั่นใจพรรคการเมือง มีแต่นักการเมืองหน้าเดิม ๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่า รอให้ทุกอย่างลงตัวกว่านี้ บ้านเมืองสงบดีอยู่แล้ว และร้อยละ 4.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

[caption id="attachment_240709" align="aligncenter" width="332"] Print Print[/caption]

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนว่าจะยังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2561 หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 10.96 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 28.56 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก ร้อยละ 29.92 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นค่อนข้างน้อย ร้อยละ 21.28 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 9.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชน หากการปฏิรูปประเทศยังไม่แล้วเสร็จและอาจทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.32 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ อยากให้ทำการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จก่อน สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยดี ยังต้องมีการจัดการระบบและระเบียบอีกหลาย ๆ อย่าง ให้เวลาในการปฏิรูป ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ในส่วนของประชาชนนั้นทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ไม่มีสิทธิ์ต่อต้าน

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งอีก นักการเมืองสร้างแต่ปัญหา ถ้าหากเลือกตั้งไปแล้วก็ไม่น่ามีอะไรดีขึ้น และไม่มีผลกระทบจะเลือกตั้งตอนไหนก็ได้ รองลงมา ร้อยละ 31.44 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ เพราะ อยากให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด อยากให้รัฐบาลทำตามที่ได้กำหนดไว้ อยากให้เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจแย่มาก ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น และไม่ชอบการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ อยากให้บ้านเมืองดีขึ้นกว่านี้ บางส่วนระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เห็นมีการปฏิรูปอะไรเลย การบริหารงานก็ไม่ดีเท่าที่ควร และอยากให้ยกเลิกการประกาศใช้ มาตรา 44 และร้อยละ 6.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.36 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 24.96 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.36 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.76 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.08 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 6.72 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.88 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.88 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.08 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 17.76 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุอายุ

ตัวอย่างร้อยละ 92.16 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 3.60 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.28 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.92 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 68.08 สมรสแล้ว ร้อยละ 6.96 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 26.80 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.56 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.36 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.76 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 12.00 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.36 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.60 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.28 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.16 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.64 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.32 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 4.56 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 11.44 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.88มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 10.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.20 ไม่ระบุรายได้

e-book-1-503x62