เป้าสินเชื่อออมสิน5แสนล.

10 ธ.ค. 2560 | 10:17 น.
ออมสินตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีหน้า 5 แสนล้านบาท เจาะตลาดเอสเอ็มอี-ฐานราก พร้อมปรับโครงสร้างตั้งศูนย์ปล่อยสินเชื่อ-ให้คำปรึกษาเพิ่มเป็น 80 แห่งครอบคลุมทุกจังหวัด

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 1-1.5 เท่าของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) โดยหากคิดจากยอดสินเชื่อทั้งหมด 2 ล้านล้านบาทแล้ว 1 เท่าของจีดีพี คาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ 4% หรือคิดเป็นเม็ดเงินขยายตัวได้ประมาณ 80,000 ล้านบาท หรือหาก 1.5 เท่า หรือขยายตัวได้ 6% สินเชื่อธนาคารจะขยายตัวได้ถึง 1.2 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_240576" align="aligncenter" width="343"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน[/caption]

“ยอดสินเชื่อที่ขยายตัว ฟังดูอาจจะไม่เยอะ แต่เราต้องปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างน้อยให้ได้ 5 แสนล้านบาท เพื่อทดแทนที่ชำระคืนด้วยอีกปีละ 4 แสนล้านบาท และอัตราการเติบโตของจีดีพีปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้ เพราะประมาณการเบื้องต้นอยู่ที่ 3.6-4.6% ดังนั้นจึงมีโอกาสโตกว่าปีนี้มาก แต่ปีนี้ก็ถือว่า เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าที่คาด เดิมมองแค่ 3% แต่ล่าสุดทะลุ 4% ไปแล้ว ทำให้สินเชื่อปีนี้น่าจะเติบโตไม่ตํ่ากว่า 5% หรือคิดเป็นเงินประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็เกินเป้าแล้ว”

สำหรับเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อ จะเน้น 2 กลุ่มหลักคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)และเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มเติมจากพันธกิจหลักของธนาคารที่มีหน้าที่ดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หนี้นอกระบบ วิสาหกิจชุมชน ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีต้องการให้ปรับโครงสร้างธนาคารเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีให้มากขึ้น ดังนั้นจึงจะตั้งทีมขึ้นมาดูแลการปล่อยสินเชื่อและให้คำปรึกษาโดยเฉพาะจาก 18 ศูนย์ เป็น 80 ศูนย์ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกจังหวัด

ในปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีไว้ที่ 40,000 ล้านบาท เติบโต 50% จากที่ปล่อยได้ในปีนี้ 20,000 ล้านบาท ทำให้พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีรวม 1 แสนล้านบาท โดยหลักๆจะเป็นเอสเอ็มอีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 50 ล้านบาท เน้นกลุ่มที่มีนวัตกรรม หรือเรียกว่า เอสเอ็มอีสตาร์ตอัพ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีนวัตกรรม จะเป็นกลุ่มย่อยๆที่เรียกว่าไมโคร

นอกจากนี้ธนาคารมีแนวคิดปล่อยสินเชื่อโฮมสเตย์แบบเป็นหมู่บ้านโดยจะปล่อยสินเชื่อแบบเป็นราย ผ่านการรวมกลุ่มเป็นชุมชน ซึ่งจะทำให้เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว เกิดร้านค้า เกิดเม็ดเงินในหมู่บ้าน และยังอยู่ระหว่างเตรียมปล่อยสินเชื่ออื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีอาชีพทำกิน เช่น สินเชื่อสตรีตฟูด สินเชื่อฟูดทรัก และสินเชื่อแฟรนไชส์ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว