แก้เกณฑ์อินฟราฟันด์ ปรับขนาดกองทุน-ลดอุปสรรคเอื้อกองเล็กระดมทุน

13 ธ.ค. 2560 | 03:02 น.
ก.ล.ต.เตรียมแก้เกณฑ์ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราฟันด์ ขจัดอุปสรรค เอื้อโครงการขนาดเล็กระดมทุนง่ายขึ้น ด้าน “ซุปเปอร์บล๊อก” ชี้เป็นผลดีกับบริษัท เตรียมยื่นไฟลิ่งตั้งกองทุนโรงไฟฟ้ามกราคมปี 2561

jaru นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำนักงานก.ล.ต. อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเกณฑ์การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองอินฟราฟันด์ โดยทบทวนขนาดสินทรัพย์ที่นำเข้ากองทุนซึ่งปัจจุบันมีขนาดใหญ่ ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อลดอุปสรรคการตั้งกองทุน เนื่องจากปัจจุบันพบว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน มีขนาดกำลังผลิตไม่มาก แต่กระจัดกระจายหลายโครงการ หากไม่ปรับเกณฑ์จะทำให้โครงการขนาดเล็ก ไม่สามารถจัดตั้งกองทุนอินฟราฟันด์ได้

ผู้ช่วยเลขาธิการก.ล.ต. กล่าวว่า การแก้เกณฑ์ จะพิจารณาลักษณะคุณสมบัติทั่วไป เช่น ขนาดโครงการที่เข้ากองทุน, รูปแบบรายได้ที่นำเข้ากองทุน, สิทธิที่จะได้รายได้ในอนาคต, รูปแบบรายได้ของกองทุนอินฟราฟันด์, สิทธิประโยชน์การลงทุน, ตลอดจนรูปแบบการลงทุนสิ่งที่ไปลงทุนที่นอกเหนือเกณฑ์

“การพิจารณาแก้ไขเกณฑ์อินฟราฟันด์ เพื่อลดอุปสรรคต่างๆ เช่น จากโครงการขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งนโยบายภาครัฐปัจจุบัน โดยเฉพาะการให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า มีขนาดเมกะวัตต์ไม่มาก จึงมีการปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

MP17-3321-A ส่วนเกณฑ์การรับบริษัทในต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยแห่งที่ 2 หรือดูโอลิสติ้งหรือการจดทะเบียนข้ามตลาด (ครอสบอร์เดอร์ลิสติ้ง) นางจารุพรรณกล่าวว่า บริษัทหลายแห่งให้ความสนใจ รวมถึงบริษัทในแถบ CLMV ที่จะมาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าเกณฑ์ปัจจุบันมีปัญหา ไม่สามารถปฏิบัติตามที่ก.ล.ต.กำหนดได้ ก็ต้องพิจารณาปรับปรุง แต่ปัจจุบันข้อมูลยังไม่นิ่ง และต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น

ด้านนายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการ (รักษาการ )บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน)หรือ SUPER กล่าวว่า การปรับเกณฑ์จะเป็นประโยชน์กับการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัท ซึ่งเตรียมยื่นข้อมูลขอจัดตั้งกองทุน (ไฟลิ่ง) ในเดือนมกราคม 2561 โดยนำบริษัทย่อย 2 บริษัท ที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ขนาดกำลังผลิตรวม 117 เมกะวัตต์ เข้ากองทุน ซึ่งรูปแบบเป็นการขายรายได้ล่วงหน้า แบบขายขาดเข้ากองทุน ซึ่งทำให้มีส่วนต่างกำไร-ขาดทุน เข้ามาในบัญชี ไม่ได้ลงบันทึกเป็นรายได้รับล่วงหน้า เนื่องจากบริษัทย่อย ไม่ได้เป็นเจ้าของแสงอาทิตย์ ซึ่งผิดกับโรงไฟฟ้าชีวมวลบางประเภท ที่วัตถุดิบมาจากบริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้า การบริหารจัดการยังคงอยู่กับเจ้าของเดิมแม้ว่าจะขายโรงไฟฟ้าออกไปตั้งกองทุนแล้วก็ตาม

[caption id="attachment_215386" align="aligncenter" width="335"] นายจอมทรัพย์ โลจายะ นายจอมทรัพย์ โลจายะ[/caption]

“กองทุนโรงไฟฟ้าของซุปเปอร์บล๊อก ไม่ได้มีปัญหาใด ๆ เพียงแต่ยังไม่มีบริษัทไหนยื่นตั้งกองทุนโซลาร์ฟาร์มมาก่อน การบริหารจัดการไม่มีแม่แบบ การพิจารณาจึงใช้เวลามาก ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง ที่ปรึกษาการเงิน เตรียมยื่นไฟลิ่งขอตั้งกองทุนในเดือนมกราคมปีหน้า” นายจอมทรัพย์ กล่าว

สำหรับ อินฟราฟันด์ เป็นการลงทุนในกิจการโครง สร้างพื้นฐาน ที่เป็นประโยชน์สาธารณะในวงกว้างของประเทศไทย เช่นระบบขนส่งทางราง ไฟฟ้า ประปา ถนนหรือทางพิเศษหรือทางสัมปทาน ท่าอากาศยานหรือสนามบิน ท่าเรือนํ้าลึก โทรคมนาคม พลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการนํ้าหรือชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยและระบบจัดการเพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว