ประมูลปิโตร ส่อลากยาว TOR สะดุด

11 ธ.ค. 2560 | 04:14 น.
ประมูลสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุบงกชและเอราวัณ ส่อยืดยาว “ศิริ” ไม่กล้าฟันธงออกทีโออาร์ได้ หลังกฤษฎีกาพิจารณากฎหมายสัญญาระบบพีเอสซีไม่แล้วเสร็จ ต้องทบทวนใหม่ดูแลผลประโยชน์ชาติให้รอบด้าน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายภายหลังการเข้ารับตำแหน่งว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการและเป็นที่สนใจของสาธารณชน เป็นเรื่องของการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนผู้สนใจหรือออกทีโออาร์ประมูลได้เมื่อใด จากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อนเคยระบุไว้ว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้

[caption id="attachment_240507" align="aligncenter" width="313"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่สามารถไปกำหนดระยะเวลาการพิจารณากฎหมายสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี ของกฤษฎีกาว่าจะแล้วเสร็จได้เมื่อใด ก่อนที่จะนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวข้องหลายส่วน ที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ทางกฤษฎีกาจึงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอย่างรอบครอบ

อย่างไรก็ตาม มองว่าความจำเป็นในการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ จะต้องเกิดขึ้น และต้องให้มีความชัดเจนหาผู้ชนะประมูลภายในปี 2561 เพราะไม่เช่นนั้นแล้วถือว่า กระทรวงพลังงานปฏิบัติงานไม่มีความเหมาะสม และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศได้

“ปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ ส่วนกฎหมายลูกแบบสัญญาพีเอสซียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากแล้วเสร็จจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่สามารถเปิดทีโออาร์ได้ เนื่องจากบางรายละเอียดของเงื่อนไขในข้อกฎหมาย ยังไม่ลงตัว จึงต้องมีการทบทวนศึกษารายละเอียดก่อน แต่มั่นใจว่าจะมีความชัดเจนภายในปีหน้า”

นายศิริ กล่าวอีกว่า ส่วนท่าทีของผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะเข้ามาร่วมประมูลนั้น กระทรวงพลังงานและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีการหารือกับผู้ประกอบการมาตลอด ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจนมากที่สุดในสังคม โดยในส่วนของนโยบายเป็นขั้นตอนในส่วนของราชการที่ต้องเร่งดำเนินการ ไม่ได้ทำตามความต้องการของผู้ประกอบการ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจะหารือกับทางผู้ประกอบการอีกครั้งหลังจากทีโออาร์มีความชัดเจนแล้ว

นอกจากนี้การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น จะดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดทำรายละเอียดการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ แต่ต้องดำเนินการในส่วนของการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชให้เกิดความชัดเจนและเสร็จสิ้นก่อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ หากไม่สามารถดำเนินการออกทีโออาร์ได้ภายในสิ้นปีนี้ เท่ากับว่า การดำเนินงานตามกรอบที่วางไว้เกิดความล่าช้า และอาจจะกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่งนี้ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย เนื่องจากการวางแผนการผลิตจะต้องดำเนินการล่วงหน้าอย่างน้อย 4 ปี ก่อนที่แหล่งปิโตรเลียมจะหมดอายุ เพื่อให้เกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่าทีโออาร์สามารถประกาศได้เร็วสุดภายในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ทางกระทรวงพลังงานก็มีความกังวลต่อการประมูลที่เกิดขึ้น เพราะจะต้องมีระยะในการสรรหาผู้ชนะประมูล 7-8 เดือน หรือได้ผู้ชนะช่วงปลายปี 2561 กับว่าเหลือระยะเวลาเตรียมการวางแผนผลิตเพียง 3 ปี (2562-2564) ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรายเดิมไม่กล้าลงทุนต่อเนื่อง เพราะไม่มีความคุ้มทุนในการผลิต และทำให้การผลิตปิโตรเลียมในช่วงปีสุดท้ายลดปริมาณลง กระทบต่อการจัดหาพลังงานของประเทศได้

“ความไม่ชัดเจนของการออกทีโออาร์ คาดว่าจะส่งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะผู้รับสัมปทานรายเดิมอย่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งจะมีความยากต่อการวางแผนการผลิตที่เหลือเวลาไม่มาก จะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนได้อย่างไร”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว