ขีดเส้น 2 เดือน ดัน ‘ปาล์ม’ ... ดึง 60 โรงสกัดน้ำมันเร่งส่งออก-บีบผู้ผลิตไบโอฯ สต๊อกเพิ่ม

10 ธ.ค. 2560 | 02:23 น.
2138

60 โรงสกัดน้ำมันปาล์ม รับบัญชารัฐ ดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบแสนตันไปอินเดีย-จีนเพิ่ม ช่วยแก้ปัญหาราคาดิ่งเหว มั่นใจครึ่งเดือนทำได้ ... สศก. โชว์ข้อมูล 2 ปี แห่ปลูกเพิ่ม 4 แสนไร่ ดันผลผลิตพุ่ง ... สมาคมปาล์มฯ จี้ตรวจสอบ ราคาในมาเลย์ยัง 4.60 บาท/กก.

จากราคาผลปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำมาก ราคาเมื่อเดือน มิ.ย. เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 4.30-4.90 บาท/กก. ล่าสุด ณ วันที่ 7 ธ.ค. 2560 ราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทลายหน้าโรงงานที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยเพียง 2.70-3.45 บาท/กก. ขณะสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของไทย ณ เดือน ธ.ค. สูงถึง 5.2 แสนตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น

 

[caption id="attachment_145991" align="aligncenter" width="503"] ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข[/caption]

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (7 ธ.ค. 60) ได้มีมติเห็นชอบในหลายเรื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำที่สำคัญ ได้แก่

1.ให้เร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ 1 แสนตัน ภายในสิ้นเดือนนี้ ในเบื้องต้น ผู้ส่งออกได้ต่อรองเหลือ 5 หมื่นตัน แต่รองนายกฯ ให้ไปหาวิธีการทำให้ได้ ซึ่งผู้ส่งออกได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ไปยังประเทศปลายทาง

2.ให้กระทรวงพลังงานไปบริหารจัดการในการนำน้ำมันปาล์มดิบในสต๊อกเอกชนไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซล 1 แสนตัน

aaaTP5-3080-A-696x385

3.ให้องค์การคลังสินค้าไปหารือกับเกษตรกรและโรงสกัดน้ำมันปาล์มในการพัฒนาคุณภาพผลปาล์มที่ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง เพื่อให้ขายได้ราคาดี มาตรการข้างต้นมีเป้าหมายดันราคาผลปาล์มสู่ระดับ 3.80 บาท/กก. และดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากสต๊อก 2 แสนตัน ใน 2 เดือนนับจากนี้

“ในส่วนของ สศก. ได้รับมอบหมายให้ไปบูรณาการกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการจัดทำข้อมูลผลผลิต และข้อมูลด้านการตลาดปาล์ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเดียวกัน”

TP2-3321-1News

| 60 โรงสกัด พร้อมช่วย |
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า โรงสกัดฯ ที่มีอยู่กว่า 60 โรง พร้อมให้ความร่วมมือในการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบผ่านโบรกเกอร์ เพื่อลดภาระสต๊อก เป้าหมายหลักที่อินเดียและจีน แม้เวลานี้ต้องเผชิญปัญหาราคา CPO ในตลาดโลกตกต่ำ ล่าสุด ราคาอ้างอิง ณ ตลาดอินเดีย อยู่ที่ 17.50 บาท/กก. จากก่อนหน้านี้ เฉลี่ยที่ 18-21 บาท/กก. ซึ่งเป็นผลจากราคา CPO ในตลาดอินเดีย จีน และมาเลเซียอ่อนตัวลงพร้อม ๆ กัน และผลจากผลผลิตปาล์มทั้งในและต่างประเทศออกมามาก ขณะที่ ความต้องการของตลาดลดลง ผู้ประกอบการทุกรายต้องแบกสต๊อกจำนวนมาก

“ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 9 โรงงาน ส่งออกซีพีโอไปอินเดียกว่า 1.5 หมื่นตัน จากก่อนหน้าส่งไปแล้ว 2 ล็อต 1.5 หมื่นตัน และ 2.5 หมื่นตัน ตามลำดับ ซึ่งบางครั้งต้องยอมขาดทุน เพราะถ้าไม่ระบายออกไป จะมีของใหม่เข้ามาเติม ไม่มีถังเก็บ ซึ่งการเร่งรัดส่งออก 1 แสนตัน ถ้าตกลงกับลูกค้าได้ รวบรวมของได้ และติดต่อเรือได้ใน 2 สัปดาห์ ก็สามารถส่งได้ครบแน่”

ด้าน นายทวี ศรีสุคนธ์ นายกสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย ขอให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กำกับดูแลและติดตามช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เวลานี้เดือดร้อนกันมาก ขณะที่ ได้รับทราบข้อมูลว่า เกษตรกรในมาเลเซียยังขายผลปาล์มได้ในระดับ 4.60 บาท/กก. ขอให้ตรวจสอบด้วยว่า จริงหรือไม่ ถ้าจริง เป็นเพราะอะไร

วิทยุพลังงาน

ขณะข้อมูลของ สศก. ระบุว่า ในปี 2560 คาดผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทย จะมีประมาณ 13.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีผลผลิต 11.42 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านตัน ส่วนเนื้อที่ให้ผลผลิตปี 2560 อยู่ที่ 4.77 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่มี 4.38 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนไร่

 

[caption id="attachment_237279" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

| ก.พลังงาน เร่งดูดซับแสนตัน |
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยว่า การแก้ไขปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ อยู่ที่ระดับ 5-5.4 แสนตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ มีข้อตกลงร่วมกันว่า ในส่วนของกระทรวงพลังงานจะเพิ่มปริมาณสต๊อกไบโอดีเซล ซึ่งที่ผ่านมา ได้หารือกับผู้ประกอบการ เพื่อหามาตรการดูดซับซีพีโอเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 1 แสนตัน ภายใน 1-2 เดือน โดยกระทรวงพลังงานจะนำมาเพิ่มผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล

อย่างไรก็ตาม การดูดซับซีพีโอในระบบ จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ยังมีช่องทางอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ปัจจุบัน การใช้ไบโอดีเซลบี 100 อยู่ที่ 3.4-3.5 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกำลังการผลิตของประเทศที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเพิ่มปริมาณสต๊อกไบโอดีเซล อาทิ การแปรสภาพซีพีโอเป็นน้ำมันบี 100 ในอัตราที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถดูดซับซีพีโอมากขึ้น โดยการหาคลังเก็บเพิ่มเติม หรือการนำไบโอดีเซลไปผสมในดีเซลส่วนหนึ่งและนำไปเก็บในคลัง เมื่อต้องการใช้ ก็นำไบโอดีเซลมาผสมซ้ำเพิ่มเติมอีก เพื่อให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

“ส่วนข้อเสนอการนำน้ำมันบี 100 ไปเผา เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น จากประสบการณ์เดิมพบว่า ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเป็นการช่วยเกษตรกร 35 ล้านบาท แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 400 ล้านบาท จึงส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ดังนั้น จึงมองว่า ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10-13 ธ.ค. 2560 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว