“รองฯสมคิด”มอบนโยบายกระทรวงเกษตรฯสั่งเร่งดันเพิ่มรายได้เกษตรกร

08 ธ.ค. 2560 | 10:44 น.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ได้เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจแก่ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม พร้อมทั้งยกการรายงานของธนาคารโลกที่ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนา มีความเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สามารถลดช่องว่างของความแตกต่างทางรายได้ของประชากร ทำให้จำนวนประชากรระดับชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศจีน และมาเลเซีย

สำหรับงานเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งขับเคลื่อน คือ การผลักดันมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น การสร้างความเข้มแข็งในระบบสหกรณ์ การส่งเสริมเกษตรกรด้านปศุสัตว์ การแก้ปัญหาราคายางพารา รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ให้มีตลาดรองรับ เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้ราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังรวมถึง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านการเกษตรในระยะยาว อาทิ การปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่

somk

การนำผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งเสริมการผลิต การน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรอย่างเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งการทำงานในระยะต่อไปจะต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านข้อมูล และความเชื่อมโยงในการดำเนินงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง เป็นต้น

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนการดำเนินงานส่งเสริมให้ราคาพืชผลของเกษตรกรดีขึ้น ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องยางพารา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 46 - 47 บาท จึงได้วางมาตรการดำเนินการในเบื้องต้นเป็น 3 มาตรการ ดังนี้

1.ภายในสัปดาห์หน้าจะยังคงให้ภาคเอกชนร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยรับซื้อยางพารา แต่หลังจากนั้นหากราคายางยังไม่เพิ่มขึ้น ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จะประสานไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ส่งออกเร่งซื้อยางให้เพิ่มมากขึ้น

2. เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในโครงการต่างๆ ของส่วนราชการจากเดิมปริมาณ 33,000 ตัน เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 50,000 - 80,000 ตัน โดยร่วมกับกระทรวงคมนาคมเร่งใช้ยางพาราในโครงการซ่อมถนน ทั้งถนนสายรองและถนนตามหมู่บ้านต่างๆ และ

3 หากแนวทางดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ราคายางเพิ่มขึ้น ทางการยางแห่งประเทศไทยจะเตรียมงบประมาณเพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวจะทำให้ราคายางพาราขยับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการนำยางพาราที่ค้างสต๊อกมาใช้อย่างแน่นอน และจะดูแลเกษตรกรชาวสวนยางโดยรับซื้อยางพาราในราคาที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

somk2

นอกจากนี้ ได้นำเรียนรองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีการจัดโครงการอบรมเกษตรกร โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยจัดอบรม 1 หลักสูตร 2 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมแนะนำให้เกษตรกรได้เรียนรู้และวางแผนการจำหน่ายพืชผล เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงที่รอฤดูกาลขายผลผลิตทางการเกษตร

ทั้งจะส่งเสริมให้มีคลินิกแก้ไขความยากจน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ธ.ก.ส. และกระทรวงมหาดไทย ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและแนะนำแนวทางในการหารายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร เช่น การรวมกลุ่มในการเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ เป้าหมายแรกในการดำเนินงาน คือ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนและมีหนี้สินมาก ซึ่งเป็นความเร่งด่วนที่ต้องให้ความช่วยเหลือในลำดับแรก โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรต่อไป

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ที่มาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกล่าวถึงการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยกตัวอย่างในเรื่องข้าวครบวงจร ว่า จากการที่ประเทศไทยมีเกษตรกร 3.7 ล้านครัวเรือน ปลูกข้าวนาปี ประมาณ 59 ล้านไร่ และมีบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ จึงเข้าไปสำรวจความเสียหายและเยี่ยวยา โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการเจรจาส่งข้อมูลเพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยเข้าไปจ่ายเงินชดเชยให้กับพี่น้องเกษตรกร

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

คาดว่าจะมีข้าวเปลือกนาปีไม่เกิน 23 ล้านตัน โดยแปลงออกมาเป็นข้าวสารจะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตัน การบริโภคในประเทศอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ฉะนั้นจะเหลือส่งออกประมาณ 4 ล้านตัน คณะทำงานด้านต่าง ๆ จึงได้มีการวางแผนในการส่งเสริมหรือควบคุมเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานว่าเกษตรกรจะทำนาปรังได้จำนวนกี่ไร่ถึงจะเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพการทำนาปรังถึง 12 ล้านไร่ แต่ถ้าทำทั้งหมดจะเกิดปัญหา Over supply ได้ จึงได้มีการคำนวณออกมาว่าอยากให้เกษตรกรทำนาปรังไม่เกิน 10 ล้านไร่ (โดยประมาณ) จึงจะได้ข้าวประมาณ 5-6 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะใกล้เคียงขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของประเทศไทย ทำให้ไม่กดดันไปที่ราคา

สำหรับพื้นที่ที่เหลืออีก 2 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการลงไปดูแลพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร โดยใช้เครื่องมือ Agri-map เข้าไปตรวจดูพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรฯ จะเอาพื้นที่เหล่านี้เป็นเป้าหมายหลักในการพูดคุยจูงใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น การปลูกพืชหลากหลาย การปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ตลาดของสินค้านั้น ๆ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปส่งเสริมให้ปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง เป็นต้น จะเป็นตัวช่วยในการตัดวงจรโรคแมลงด้วย ขณะเดียวกันยังสามารถไถกลบบางส่วนได้ ทำให้อินทรียวัตถุในดินสูงมากขึ้น และเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน จึงอยากใช้โมเดลแบบนี้กับพืชสำคัญ

ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวได้รายงานว่า ปัจจุบันประเทศจีนเปลี่ยนพฤติกรรมในการนำเข้าข้าว โดยสนใจซื้อข้าวพื้นนิ่ม จึงมอบให้กรมการข้าวเร่งพัฒนาพันธุ์ เพราะมีความต้องการสูงมากถึงประมาณ 7 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนเลือกที่จะไปซื้อที่เวียดนาม กรณีดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ เห็นว่ามีความต้องการจากผู้บริโภคชัดเจน จึงต้องมีการวิจัยที่ตรงกับความต้องการตลาด และส่งข้อมูลข่าวสารถึงพี่น้องเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวให้ทันต่อความต้องการ นอกจากนี้ รัฐบาลมีโครงการที่จะดูแลในเรื่องการตลาดรองรับ

somk1

โดยเฉพาะในช่วงที่มีข้าวเปลือกจำนวนมาก เช่น ให้ ธ.ก.ส. เข้าไปเสริมสภาพคล่องในระบบสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้มีกำลังในการไปซื้อข้าวในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว โครงการดูแลผู้ประกอบการให้มีเม็ดเงินในการซื้อข้าวเข้ามาเก็บ โดยทางรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม โครงการชะลอการขายข้าวให้เกษตรกรหรือสหกรณ์เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาให้ตันละ 1,500 บาท เป็นต้น อีกทั้งยังมีโครงการชดเชยลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก มีวงเงินประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. โดยฐานข้อมูลจะมาจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในเรื่องของการขึ้นทะเบียน และต้องเป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการน้ำท่วม การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้มีเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาทที่ฐานรากของระบบเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องของราคาก็เป็นไปตามกลไกตลาด ราคาข้าวหอมมะลิมีราคา 13,000-14,000 บาท/ตัน ข้าวปทุมธานี ประมาณ 9,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 7,500-8,000 บาท (ราคาที่ความชื้น 14.5 %) ทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความพึงพอใจ เกษตรกรรายใดมียุ้งฉาง หรือสหกรณ์ไหนมีพื้นที่จัดเก็บ อาจจะใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการชะลอการขาย จะได้รับการสนับสนุนในด้านเงินทุนในค่าเก็บรักษาด้วย สำหรับสิ่งที่ต้องจับตามองคือข้าวเปลือกเหนียว จากการที่มีราคาดีมาในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีเกษตรกรบางรายหันไปปลูกข้าวเหนียวแทน ในประเภทข้าวเหนียวที่เป็นต้นเตี้ย จึงคิดว่าจะดำเนินการแก้ไขต่อไป จึงได้มอบหมายกรมการข้าวไปดูในรายละเอียด ซึ่งจะแก้ไขไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง อยู่บนพื้นที่ฐานที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกับภาครัฐด้วย

e-book