ททท.บูม3อีเวนต์ผ่านวิถีการกิน สบช่องขยายฐานทัวริสต์ปี61ดันอเมซิ่งไทยเทสต์

14 ธ.ค. 2560 | 07:40 น.
ททท.โฟกัส 3 กิจกรรมหลัก ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ดันทัวริสต์ใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มเป็น 25% โหมโปรโมตมิชลิน สตาร์ หลังมี 17 ร้านอาหารคว้าดาวมิชลิน เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพ UNWTOGastronomy ทั้งดันแคมเปญอเมซิ่งไทยเทสต์

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย มีการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด แต่ปี 2561 ททท.วางเป้าหมายกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายด้านอาหารให้เพิ่มขึ้นเป็น 25% หรือราว 7.5 แสนล้านบาท จากการคาดการณ์ว่าไทยจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวราว 3 ล้านล้านบาท

[caption id="attachment_156609" align="aligncenter" width="503"] นายยุทธศักดิ์ สุภสร นายยุทธศักดิ์ สุภสร[/caption]

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) เผยว่า แผนตลาดหลักของปีงบประมาณ 2561 ททท. จะผลักดันการขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพผ่านวิถีการกิน เพื่อต่อยอดกระแสด้านอาหาร โดยในปีหน้า ไทยจะมีกิจกรรมและแคมเปญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่สำคัญในตลาดระดับโลก 3 โครงการ

โครงการที่ 1 คือ การนำมิชลิน สตาร์ เข้ามาช่วยทำตลาดเรื่องอาหารในไทย ถือเป็นหนึ่งในนโยบายผลักดันเรื่องการใช้จ่ายโครงการครั้งนี้ ก็ไม่ได้เน้นแค่เพียงร้านอาหารชื่อดัง แต่ยังมีร้านอาหารทั่วไป ที่มีมาตรฐานรสชาติดี เจ้าเก่าแก่ด้วย และการเข้ามาประเมินแต่ละร้านจะเป็นการเลือกจากมิชลินเอง

คู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก “มิชลิน ไกด์” ฉบับกรุงเทพฯ ประจำปี 2561 รัฐบาลสนับสนุนงบให้ททท.นำไปใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนทำงานร่วมกับมิชลิน ในระยะเวลา 5 ปี รวมกว่า 144.5 ล้านบาท ทั้งนี้มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ จัดว่าเป็นฉบับที่ 29 จากมิชลิน ไกด์ ที่มีอยู่ 28 ประเทศ และไทยจะเป็นประเทศที่ 6 ในภูมิภาคนี้

mp22-3322-a อย่างไรก็ตามผู้ตรวจสอบของมิชลิน จะเป็นนักวิจารณ์อาหารมืออาชีพ ที่ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งจะใช้เกณฑ์ตรวจประเมินคุณภาพของร้านอาหารในหลักเกณฑ์เดียวกันทั่วโลกที่ใช้มานานหลายทศวรรษ ที่จะมีหลักเกณฑ์ 5 ข้อ คือ 1.คุณภาพของอาหาร 2.รสชาติอาหาร 3.เอกลักษณ์ของอาหาร 4.ความคุ้มค่าสมราคา 5.ความเสมอต้นเสมอปลายของคุณภาพและรสชาติอาหาร ร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลิน 1 ดาว จึงมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในปารีส นิวยอร์ก หรือโตเกียว

ทั้งนี้มิชลิน สตาร์ จะมี 3 ระดับ ระดับดาวมิชลิน 1 ดาว (Very Good Cuisine) ดาวมิชลิน 2 ดาว (Excellent Cuisine Worth a Detour) และระดับที่สูงสุด คือ ดาวมิชลิน 3 ดาว (Exceptional Cuisine Worth a Special Journey)

โดยคู่มือ มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯเล่มแรกนี้ มีร้านอาหารผ่านการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 98 ร้านและมีร้านอาหาร 14 แห่งที่ได้รางวัลดาวมิชลิน ซึ่งการจัดอันดับร้านอาหาร 2 ดาวมิชลิน มี 3 ร้าน คือร้าน Gaggan (กากั้น), Le Normandie (เลอ นอร์มังดี) ร้านอาหารซึ่งเปิดให้บริการในโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล และร้าน Mezzaluna (เมซซาลูน่า) ของโรงแรมเลอบัว นอกจากนี้ยังมีร้านอาหาร 14 ร้าน ที่ได้รับรางวัล 1 ดาวมิชลิน อาทิ ร้าน ชิม บาย สยาม วิสดอม, ร้านโบลาน, ร้านเสน่ห์จันทร์ ที่ร้าน สระบัว บาย กิน กิน นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารริมทางได้รางวัล 1 ดาวมิชลินอยู่ 1 ร้านด้วย นั่นคือ ร้าน เจ๊ไฝ ที่สืบทอดกิจการที่รุ่นพ่อได้ริเริ่มขึ้นเมื่อ 70 ปีก่อน

อ๊ายยยขายของ-7-1 โครงการที่ 2 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน “UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism” ครั้งที่ 4 ในปี 2561 ช่วงกลางปีนี้ซึ่งเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และ 3. คือ แคมเปญ “Amazing Thai Taste” เพื่อกระตุ้นตลาดตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ล่าสุดททท.ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gurunavi ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนะนำร้านอาหารยอดนิยมที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมด้านอาหารของไทยและญี่ปุ่น โดยระยะแรก ททท. จะสนับสนุนข้อมูลสำหรับจัดทำแอพพลิเคชันแนะนำร้านอาหารในประเทศไทย และบริษัท Gurunavi, Inc. จะเริ่มจัดทำฐานข้อมูลร้านอาหารในไทยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เร็วๆ นี้ คาดว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในไทย (Expat) ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว