โมซัมบิก : โอกาสทองของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า

11 ธ.ค. 2560 | 23:20 น.
tp10-3321-1c โมซัมบิก เป็นหนึ่งประเทศที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักมากนัก เนื่องจากมีที่ตั้งไกลจากประเทศไทย และข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโมซัมบิกก็ยังไม่แพร่หลาย แต่ปัจจุบันไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต เมืองหลวงของโมซัมบิกอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ส่งผลให้ไทยและโมซัมบิกมีความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นทางการ มีการค้าขายดำเนินธุรกิจและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า คนไทยสามารถรับทราบถึงการพัฒนาของโมซัมบิกและโอกาสของไทยในโมซัมบิกได้มากขึ้นด้วย

โมซัมบิก เป็นประเทศในแอฟริกาตอนใต้ มีพื้นที่ประมาณ 799,380 ตร.กม. มีประชากรราว 28 ล้านคน แม้จะเป็นประเทศเล็กๆแต่ก็น่าสนใจ เนื่องจากมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากความมีเสถียรภาพทางการเมือง นำโดยรัฐบาล Mr. Filipe Jacinto Nyusi ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2557 และได้ดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาการศึกษา การเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ การส่งเสริมการพัฒนาชุมชนในชนบท การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของสตรีในการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

tp10-3321-2c หนึ่งในนโยบายการส่งเสริมที่สำคัญของโมซัมบิก คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าในประเทศ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลโมซัมบิกให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งในแง่การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการสร้างอาชีพให้กับประชาชน รวมถึงการส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าจากต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย Eduardo Mondlane ชี้ว่า โมซัมบิกมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะพันธุ์สัตว์นํ้าจืดทั้งสิ้น 250,000 เฮกเตอร์ แต่มีพื้นที่เพียงแค่ 1% เท่านั้นที่ถูกใช้ประโยชน์ในการเพาะพันธุ์สัตว์นํ้าจืด และทำรายได้เพียงแค่ 2% ของ GDP (ข้อมูล ณ ปี 2559) สาเหตุเพราะโมซัมบิกไม่สามารถสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาการเพาะพันธุ์สัตว์นํ้าจืด การผลิตลูกปลา และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าจืดได้อย่างเพียงพอ ทำให้รัฐบาลโมซัมบิกต้องเปิดรับความร่วมมือด้านการพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าจืดจากต่างประเทศ ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าไปสนับสนุนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าจืด โดยการจัดตั้ง ศูนย์เพาะเลี้ยงปลานิลไทย-โมซัมบิก โดยฝ่ายโมซัมบิกให้ความสำคัญและถือว่าไทยเป็นแบบอย่างในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานิล

ปัจจุบัน โมซัมบิกมีความต้องการให้นานาประเทศเข้าไปลงทุนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าในเชิงเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก ทั้งในพื้นที่อำเภอบิเลน (Bilene) จังหวัดกาซา (Gaza) ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาและการลงทุนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้ามากที่สุดในโมซัมบิก รวมทั้งธุรกิจประมงทางทะเลในโมซัมบิก ซึ่งยังขาดความเชี่ยวชาญในการผลิตเพื่อตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจ และถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีขนาดเล็ก จึงถือเป็นโอกาสทองของภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า และในธุรกิจประมงทางทะเลในโมซัมบิกให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 อย่างไรก็ดี ในขั้นเริ่มต้นภาคเอกชนของไทยควรต้องศึกษาหาข้อมูลในตลาดการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับคู่ค้า รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ที่ดีระหว่างภาคเอกชนของไทยต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นในโมซัมบิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน เนื่องจากโมซัมบิกใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างเอกชนไทยและผู้ประกอบการท้องถิ่นของโมซัมบิกได้ ทั้งนี้ การสร้างความคุ้นเคยและทำประโยชน์ในพื้นที่ ก็จะทำให้ชาวท้องถิ่นมองเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน อาทิ การเข้าไปจัดหลักสูตรอบรมการดำเนินธุรกิจด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าซึ่งไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรม

หลายท่านคงไม่เคยทราบมาก่อนว่า ไทยมีมูลค่าการลงทุนในโมซัมบิกสูงถึงกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) โดยส่วนมากเป็นธุรกิจพลังงาน ซึ่งทำให้โมซัมบิกเป็นประเทศที่ไทยลงทุนสูงสุดในภูมิภาคแอฟริกา ขณะที่ด้านการค้า ในปี 2559 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 159.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 148.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากโมซัมบิก 11.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผ้าผืน นํ้าตาลทราย อาหารกระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากโมซัมบิก ได้แก่ สินแร่โลหะ สัตว์นํ้าสดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป เครื่องเพชรพลอย อัญมณี และทองคำ

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว