รู้จัก‘Cross Border E-Commerce’ จีน

11 ธ.ค. 2560 | 23:05 น.
tp7-3321-c ในปัจจุบันผู้บริโภคจีนนิยมซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ติด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของโลก ทำให้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 กระทรวงการคลังและหน่วยงานบริหารจัดการศุลกากรกลางและมณฑลเกี่ยวกับภาษี (General Administration of Customs and the State Administration of Taxation) ของประเทศจีน ได้ออกกฎระเบียบที่เรียกว่า “New Circular หรือ Cai Guan Shui” หรือ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นำเข้าข้ามแดน (Cross Border E-Commerce Import : CERI)” หรือ “Cross Border E-Commerce : CBEC” โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 8 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา เหตุผลหลักก็เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนจีนในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านทางออนไลน์พิเศษที่ไม่ต้องมีการตรวจเข้มกับสินค้าที่เข้ามาในประเทศจีน

โดยปกติคนจีนซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ทั่วไปที่เรียกว่า “E-Commerce” อยู่แล้ว โดยช่องทางปกตินี้จะมีกฎระเบียบและกติกาที่ชัดเจน มีแพลตฟอร์มหลักๆ ได้แก่ Tmall.com ของ Alibaba Taobao.co ของ Alibaba และ JD.Com ส่วนช่องทางซื้อขายสินค้าใหม่ของ “CBEC” นั้น ได้แก่ Tmall Global ของ Alibaba Grope หรือ JD Worldwide ของ JD.com ไม่ว่าจะเป็นช่องทางปกติกับพิเศษนั้นยังคงเป็นการซื้อขายจากธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และจากธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) เหมือนเดิม

ก่อนวันที่ 8 เมษายน 2559 ทั้ง 2 กลุ่ม (B2C และ B2B) เสียทั้งภาษีศุลกากร มูลค่าเพิ่มและสรรพสามิต เช่น กลุ่ม B2C เสียภาษีศุลกากรที่แยกตามประเภทของสินค้า เช่น หนังสือ อาหารและเครื่องดื่ม เสียภาษี 10% เสื้อผ้า นาฬิกา และเครื่องใช้ไฟฟ้า เสียภาษี 20% สินค้าฟุ่มเฟือย เสียภาษี 30% และเครื่องสำอาง 50% ในขณะที่กลุ่ม B2B ต้องเสียภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต โดยหนังสือ อาหาร และเครื่องดื่ม เสียภาษี 8-20% เสื้อผ้า นาฬิกา และเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียภาษี 10-23% สินค้าฟุ่มเฟือยเสียภาษี 10-23% และเครื่องสำอาง 2-8%

tp7-3321-1c แต่หลังวันที่ 8 เมษายน 2559 อัตราภาษีของทั้ง 2 กลุ่ม ได้ปรับเกณฑ์เป็นขึ้นกับค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อแต่ละคนที่มีโควตาในการซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 20,000 หยวน และมีอัตราภาษีที่ลดลง เช่น หากไม่เกิน 20,000 หยวน ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร แต่หากเกิน 20,000 หยวน ยังคงเสียภาษีศุลกากร 10%

สำหรับกรณี B2C ตัวอย่างเช่น สมมติว่าผู้บริโภคจีนสั่งซื้อเครื่องสำอาง จากที่ราคา 400 หยวน หากสั่งซื้อแบบโดยปกติ ราคาจะปรับเป็น 616-640 หยวน (400 หยวน + ภาษีศุลกากร 6.5-8% + VAT 17% + ภาษีสรรพสามิต 30%) แต่หากเราสั่งซื้อผ่านทาง CBEC ราคาสินค้าจะถูกลงกว่า กรณีการสั่งซื้อปกติราคาจะเหลือ 513 หยวน (400 + ภาษีศุลกากร 0% + VAT 11.9% + ภาษีสรรพสามิต 21%) และหากซื้อหนังสือจากราคา 100 หยวน หากสั่งซื้อปกติเมื่อเสียภาษีแล้วราคาปรับเป็น 113 หยวน (100 + ภาษีศุลกากร 0% + VAT 13% + ภาษีสรรพสามิต 0%) และหากสั่งซื้อแบบ CBEC ราคา เหลือเพียง 109 หยวนเท่านั้น (100 + ภาษีศุลกากร 0% + VAT 70% x 13% + ภาษีสรรพสามิต 0%)

ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ปกติแบบ “B2C” ของจีนมีมูลค่าในปี 2560 อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มปีละ 40% สำหรับมูลค่าซื้อขาย “B2C” ทางช่องทาง CBEC อยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่าการซื้อขายออนไลน์ปกติ แต่จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ 70% ทำไมคนจีนหันมานิยมช่องทางซื้อขาย CBEC มากขึ้น เป็นเพราะรัฐบาลจีนส่งเสริมและสนับสนุน เห็นได้จากมีการตรวจสินค้าไม่เข้มเท่ากับซื้อขาย E-Commerce ปกติ นอกจากนี้ภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจะถูกกว่าซื้อขายปกติ ที่สำคัญคือให้วงเงินของคนจีนซื้อได้ไม่เกิน 20,000 หยวน แต่หากเกิน 20,000 หยวนก็จะเก็บอัตราปกติ และการซื้อขายสินค้าผ่านทาง CBEC สามารถได้ผ่านเขตการค้าเสรี 13 ด่านและท่าเรือ (13 Free Trade Zone) ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางแถบชายทะเลฝั่งตะวันออก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 วิธีในการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์จากต่างประเทศผ่านทางช่อง CBEC นั้นแตกต่างกับการซื้อขายออนไลน์ปกติตรงที่คลังสินค้าอยู่ในประเทศจีนหรือนอกประเทศจีน การซื้อขายทางช่อง CBEC คลังสินค้าอยู่ในประเทศจีน แต่กรณีปกติการสั่งซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศจีน โดยกรณีการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางช่อง CBEC ผู้บริโภคจีนจะทำคำสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มข้ามแดน (Cross Border E-Commerce Platform) หลังจากนั้นคำสั่งซื้อดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังหน่วยงานศุลกากรจีน แล้วคำสั่งซื้อส่งต่อไปยังต่างประเทศ เพื่อแสดงความต้องการนำเข้าสินค้าชนิดที่ลูกค้าสั่งเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าในประเทศจีน (Bonded Warehouse) แล้วสินค้าชนิดนั้นก็จะถูกส่งไปยังลูกค้าผ่านทางกลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มสั่งซื้อไปจนถึงผู้บริโภคได้รับสินค้าใช้เวลาเพียง 7 วัน ในขณะที่การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ปกติจะใช้เวลาถึง 15 วัน

ช่วงที่ผมไปจีนผมได้มีโอกาสเก็บข้อมูลของการค้าข้ามแดนแบบอี-คอมเมิร์ซ “Cross Border E-commerce” จากเจ้าหน้าที่ของ “Guangdong Pilot Free Trade Zone” ที่เขตหนานซา (Nansha) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน เจ้าหน้าที่บอกผมว่าโดย 95% เป็นการซื้อขายกันแบบ B2B2C และที่เหลืออีก 5% เป็นแบบ B2C และแบบ O2O (Online to Online หรือ Online to Offline) โดยมีการเก็บภาษีเฉลี่ย 12.7% ถูกกว่าการนำเข้าทั่วไปที่อยู่ที่ 22% สินค้าส่วนใหญ่ที่สั่งซื้อคือกลุ่มสินค้าแม่และเด็ก

หน่วยงานที่ 2 ที่ผมได้มีโอกาสไปเก็บข้อมูลด้วยคือสมาคม Guangdong E-Business Association (GDeBA) ซึ่งเป็นสมาคมที่รวบรวมรายชื่อบริษัทที่เป็นเจ้า ของเว็บไซซ์ที่ขายของบนออนไลน์ จำนวน 1,800 บริษัท ซึ่งจะจัดงานแสดงสินค้า “International E-Business Expo : IEBE” ปีละ 2 ครั้ง นักธุรกิจหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อและประสานขอรายละเอียดได้เลยครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว