กรมชลฯ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังภาคใต้อย่างต่อเนื่อง

07 ธ.ค. 2560 | 09:34 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ และให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบริหาร รักษาการรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา และนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ บรรยายสรุป ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู

swo10

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่าในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า ฝนที่ตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซียที่เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง จากนั้นเคลื่อนไปปกคลุมทะเลอันดามัน และหัวเกาะเกาะสุมาตราตามลำดับ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สรุปได้ดังนี้
swo13

จังหวัดชุมพร เนื่องจากมีฝนตกหนักทำให้มีปริมาณน้ำฝนท่วมขังบนถนนในเขตเทศบาลเมืองชุมพร ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ส่งผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ละแม อ.ทุ่งตะโก และ อ.ปะทิว โครงการชลประทานชุมพร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 16 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 22 เครื่อง รถแบ็คโฮ 7 คัน ขุดลอกทางระบายน้ำ พร้อมประสานงานร่วมกับเทศบาลเมืองชุมพร ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำตามท่อระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
swo11

จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานการณ์น้ำในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงสระ อ.พระแสง อ.บ้านนาสาร อ.เคียนซา อ.บ้านนาเดิม อ.พุนพิน อ.ไชยา อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.ดอนสัก สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำตาปี ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณ อ.พระแสง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.23 เมตร และที่อ.เคียนซา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.18 เมตร แนวโน้มลดลง โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 4 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าโพธิ์ และประตูระบายน้ำคลองไชยา พร้อมกับนำรถแบ็คโฮช่วยกำจัดเศษขยะและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
swo1

จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝนที่ตกหนักลงมาอีก ทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง 15 อำเภอ ได้แก่ อ.ฉวาก อ.พรหมคีรี อ.เชียรใหญ่ อ.พระพรหม อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.หัวไทร อ.ชะอวด อ.ปากพนัง อ.พิปูน อ.บางขัน อ.ถ้ำพรรณรา อ.ทุ่งใหญ่ อ.ขนอม อ.นบพิตำ อ.ร่อนพิบูลย์ และอ.ลานสกา ได้เร่งเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลัก โดยกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 47 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 40 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระดับน้ำในลำน้ำธรรมชาติ อยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง การระบายน้ำจึงเป็นไปได้ช้า
swo2

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ฝนตกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากลงสู่ลำน้ำสายหลักคลองท่าดี และคลองสาขาของคลองท่าดี ผ่านเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชทั้ง 5 สาย ส่งผลให้ระดับน้ำในเขตเทศบาลนครฯเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว แต่ยังคงท่วมขังในบางพื้นที่ประมาณ 40-80 เซนติเมตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครศรีธรรมราช ได้มีหนังสือแจ้งเตือนจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำติดตั้งตามจุดต่างๆ ในเขตเทศบาลนครฯ รวม 11 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 8 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดต่อไป

swo3

จังหวัดตรัง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.นาโยง อ.เมือง อ.วังวิเศษ และอ.กันตัง ระดับน้ำในแม่น้ำตรัง มีแนวโน้มลดลง บริเวณสถานีวัดน้ำ X.234 บ.ป่าหมาก อ.เมือง ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่ง 67 เซนติเมตร แต่ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณบ้านท่าจีน อ.เมือง ปัจจุบันไม่มีฝนตกในพื้นที่ โครงการชลประทานตรัง ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 14 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไป
swo4

จังหวัดพัทลุง ระดับน้ำในคลองนุ้ย ที่สถานีวัดน้ำ X.170 อ.ศรีนครินทร์ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.04 เมตร มีแนวโน้มลดลงแล้ว และยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนขนุน อ.ป่าพะยอม อ.กงหรา อ.ป่าบอน อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และอ.เมือง ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1-2 วัน กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 20 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด
swo6

จังหวัดสงขลา แม้ว่าจะมีฝนตกน้อยลง แต่ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขัง 9 อำเภอ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.รัติภูมิ อ.ควนเนียง อ.นาทวี อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สะทิงพระ และ อ.สิงหนคร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะคลองอู่ตะเภา ที่ไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ ระดับน้ำที่สถานี X.90 บ.บางศาลา อ.คลองหอยโข่ง ลดลงต่ำกว่าตลิ่ง 4.42 เมตร แนวโน้มลดลง กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมช่วยเหลือ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 45 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 26 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด
swo7

จังหวัดปัตตานี พื้นที่น้ำท่วม 7 อำเภอ ไก้แก่ อ.หนองจิก อ.ยะรัง อ.สายบุรี อ.โคกโพธิ์ อ.ไม้แก่น อ.ปะนาเระ และ อ.เมือง ปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีในช่วงเหนือเขื่อนปัตตานี ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่ง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โครงการชลประทานปัตตานี ประสานเขื่อนบางลางลดการระบายน้ำ ซึ่งหยุดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 2 – 8 ธ.ค.60 เปิดบานระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำสายต่างๆ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง บริเวณสะพานเดชานุชิต เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังแล้ว
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

จังหวัดยะลา ปริมาณฝนตกลดลง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีพื้นที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.รามัน และ อ.ยะลา ที่มีน้ำล้นตลิ่งและท่วมขัง ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีปัจจบันเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ที่บริเวณสถานีวัดน้ำ X.40A อ.เมืองยะลา ต่ำกว่าตลิ่ง 3.90 เมตร ส่วนที่สถานีวัดน้ำ X.40B อ.เมืองยะลา ระดับน้ำได้ลดต่ำกว่าตลิ่งแล้ว 2.95 เซนติเมตร แนวโน้มของระดับน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลง จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของระดับน้ำทะเลหนุนด้วย กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานยะลา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง บริเวณฟาร์มตัวอย่างวังพญาท่าธง อ.รามัน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วมขังแล้ว
swo8

จังหวัดนราธิวาส ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 13 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.จะแนะ อ.เจาะไอร้อง และอ.ตากใบ ปัจจุบันลุ่มน้ำโก-ลก และแม่น้ำบางนรา ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว และลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 12 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดต่อไป

swo9

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ให้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนไว้แล้ว โดยเป็นเครื่องสูบน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 380 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 180 เครื่อง รถสูบน้ำ 5 เครื่อง เครื่องจักรกลสนับสนุน 101 เครื่อง และสะพานเหล็ก 1 ชุด พร้อมให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย รายงานสถานการณ์น้ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว