The Antique Collector

14 ธ.ค. 2560 | 07:45 น.
MP25-3321-5a “เพราะการสะสมของเก่าคือการลงทุนที่มีสุนทรียภาพ เสน่ห์ในของโบราณ ที่เพิ่มปริมาณผ่านความรักและหลงใหลสู่การเป็นของสะสมที่มีการเก็บรวบรวมภายใต้องค์ความรู้ที่ศึกษามาอย่างถ่องแท้คือมูลค่าที่ไม่สามารถประเมินได้”

ความเชื่อมโยงทางสายเลือดกับการเติบโตขึ้นมาในสายสกุลขุนนางเก่าแก่ซึ่งมีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ถึง 5 สกุล คือ บุนนาค อมาตยกุล อาจารยางกูร คอมันตร์ และคุณะดิลก ทำให้ คุณโอ๊ค – อรรถดา คอมันตร์ บุตรชายคนที่สองของคุณอัมรินทร์ และคุณเดือนฉาย คอมันตร์ ได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศซึ่งแวดล้อมและอบอวลไปด้วยของสะสมอันทรงคุณค่าของตระกูล รวมถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยอดีตเมื่อร้อยปีก่อนที่เล่าขานสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เกิดเป็นความรักและความหลงใหลในของโบราณตั้งแต่เยาว์วัย

[caption id="attachment_239684" align="aligncenter" width="503"] อรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหาร บริษัท Thai Star Group อรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหาร บริษัท Thai Star Group[/caption]

คุณอรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหาร บริษัท Thai Star Group ซึ่งริเริ่มโดยคุณพ่ออัมรินทร์ คอมันตร์ กับครั้งแรกที่คนในตระกูลคอมันตร์เปลี่ยนจากการรับราชการมาเดินบนเส้นทางการประกอบธุรกิจเอกชน ผนวกความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศสู่การดำเนินธุรกิจด้านการเดินเรือระหว่างประเทศครบวงจรทั้งการชิปปิ้งและระบบโลจิสติกส์ ตัวแทนสายการบินชั้นนำหลากหลายสายการบิน อาทิ Israel Airlines, Philippines Airlines และ Air Astana ให้บริการทั้งในส่วนของผู้โดยสาร และคาร์โก ตลอดจนธุรกิจด้านเรียลเอสเตท เทรดดิ้ง และรีสอร์ต อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกับคุณโอ๊คในฐานะ “นักสะสม” และ เจ้าของสำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ ที่นำของสะสมส่วนตัว ทั้งภาพถ่าย เอกสารโบราณ ร่วมกับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และงานศิลปะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักสะสมและผู้ชื่นชอบในประวัติศาสตร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

กว่าจะมาถึงวันที่ของสะสมในกรุทั้ง ภาพถ่ายจากช่างภาพชื่อดังระดับโลกในยุคที่การถ่ายภาพเริ่มเข้ามาสู่สยามประเทศ เอกสารโบราณ ศาสตราวุธโบราณ เฟอร์นิเจอร์ทั้งของไทยและต่างชาติ ของตกแต่งย้อนยุค และบ้านโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สะสมและรวบรวมได้มากกว่าหมื่นชิ้นในปัจจุบัน การตีโจทย์ทางธุรกิจแนวคิดการสะสมทุนผ่าน “ของเก่า” เริ่มฉายแววตั้งแต่คุณโอ๊คเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

MP25-3321-2a “ผมเคยเห็นแสตมป์เก่าของคุณทวดตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 ตอนนั้นรู้สึกว่ากระดาษแผ่นเล็กๆ นี้มีเรื่องราวมากมาย เป็นตัวแทนของช่วงเวลาหนึ่งที่มีคุณค่าจึงรู้สึกอยากเก็บ ผมเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งอยู่ไม่ห่างจากอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก มากนัก เกือบทุกเย็นผมจะเดินไปดูเหรียญ ไปดูแสตมป์ ความผูกพันกับของเก่าทำให้ผมไม่เก็บของตามยุคสมัย แต่เลือกเก็บในสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับเด็กของชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ถือว่าแพงเอาการ แต่นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกชอบจริงๆ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าค้นหาและสนุกกับการสะสม พอโตขึ้นมาหน่อยผมก็เริ่มสะสมเฟอร์นิเจอร์ ทุกสัปดาห์ผมต้องมีของติดไม้ติดมือกลับบ้านมาเสมอ”

“สิ่งที่เราชอบจริงๆ ไม่สามารถทำไปพร้อมกับหน้าที่ที่เรามีได้” คุณโอ๊คยอมทิ้งความฝันที่ต้องการศึกษาต่อด้านโบราณคดี มาศึกษาด้านการบริหารเพื่อสานต่อธุรกิจของครอบครัว ระหว่างการเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ การได้เห็นตลาดซื้อขายของเก่ายิ่งทำให้คุณโอ๊คเห็นความสำคัญของภาพถ่ายและเอกสารโบราณของไทยที่ส่วนใหญ่อยู่ในการครอบครองของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในยุคโคโลเนียล ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนถ่ายทางศิลปวัฒนธรรม ช่วงรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5

[caption id="attachment_239681" align="aligncenter" width="335"] อรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหาร บริษัท Thai Star Group อรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหาร บริษัท Thai Star Group[/caption]

เหตุผลที่ภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 มีราคาแพงสูงสุดและได้รับความนิยมสูงสุด คือ ช่างภาพที่เดินทางเข้ามาในสยามขณะนั้นไม่ใช่ช่างภาพธรรมดา แต่คือช่างภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก ประกอบกับกรรมวิธีการถ่ายภาพและการผลิตภาพที่ซับซ้อน มีโทนสีและมิติที่ทรงเสน่ห์ จึงเป็นภาพที่มีคุณค่าทั้งต่อประวัติศาสตร์ ยืนยันเรื่องราวเมื่อครั้งอดีตได้อย่างแจ่มชัด เป็นหลักฐานที่สามารถนำไปต่อยอดการศึกษาได้หลากหลายรูปแบบ คุณค่าในฐานะงานศิลปะแห่งยุคสมัย รวมถึงคุณค่าสูงสุดคือความหมายต่อจิตใจของผู้สะสม ความตั้งใจในการแสวงหาความรู้และคัดสรรภาพต้นฉบับจากทั้งในและต่างประเทศทำให้ชื่อของคุณอรรถดาไม่อยู่แค่ในระดับผู้ซื้อ แต่ยังเป็นที่รู้จักในระดับดีลเลอร์และหมู่นักสะสมคอเดียวกันทั่วโลก เพียงแต่นักสะสมรายใหญ่จากประเทศไทยคนนี้เลือกที่จะซื้อเพียงขาเดียว ไม่เคยคิดที่จะขาย และนำของเหล่านี้มาสานต่อเป็นองค์ความรู้อันทรงคุณค่าเพื่อคนไทยผ่านเรื่องราวที่ถ่ายทอดในหนังสือจากสำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ ที่คุณโอ๊คขึ้นแท่นเป็นบรรณาธิการเองทุกเล่ม พร้อมรวบรวมของสะสมประกอบร่างเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับเรือนของคหบดีในสมัยรัชกาลที่ 5 ตกแต่งด้วยข้าวของในยุคนั้นแบบเสมือนจริงที่ “Villa Musée” เขาใหญ่

“ธุรกิจของเก่ายิ่งเริ่มไวยิ่งได้เปรียบ ในตลาดที่ของเก่าส่วนใหญ่อยู่ในโลกตะวันตกทำให้ของดีๆ ส่วนใหญ่อยู่ในมือของชาวต่างชาติ การก้าวมาบนเส้นทางนี้ทำให้เราไม่ต้องเป็นผู้ซื้อคนสุดท้าย และสามารถนำของบางส่วนกลับมาให้คนไทยด้วยกันชื่นชมได้บ้าง”

แก่นความสำเร็จของคุณโอ๊คทั้งในมุมของนักธุรกิจกับการบริหารงานที่สานความสัมพันธ์กับคู่ค้าที่ไม่จำกัดเฉพาะในเชิงการทำธุรกิจ แต่ความรู้รอบและรู้ลึกทำให้วันนี้ทำให้ผู้บริหารของบริษัทต่างๆ มักจะขอคำปรึกษาจากคุณโอ๊คเพราะความสนใจเรื่องของเก่าและงานศิลปะ รวมถึงการเริ่มอยากเดินทางบนสายนักสะสมเช่นเดียวกัน

MP25-3321-3a ในยุคปัจจุบันซึ่งมีเพียงไม่กี่ธุรกิจที่ยังคงขับเคลื่อนด้วย “เงินสด” สำหรับวงการซื้อ - ขายของสะสมแล้ว ความท้าทายสูงสุดก็คือแม้จะมีเงินมหาศาลก็ไม่สามารถซื้อได้ ต่างกับสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีหรือข้าวของเครื่องใช้ในยุคสมัยที่เพียงมีเงิน เดินเข้าห้างฯ ก็ได้ของชิ้นนั้นกลับมา แต่สำหรับ “ของสะสม” แค่ทุนทรัพย์เพียงประการเดียวไม่เพียงพอ ยังต้องอาศัยจังหวะ ต้องมีความพยายาม ที่สำคัญคือต้องมีความรู้อย่างแท้จริง เพราะธุรกิจนี้การตัดสินใจพลาดหรือตัดสินใจช้าเพียงนาทีเดียว ของชิ้นนั้นก็พร้อมจะเปลี่ยนมือไปสู่ผู้สนใจคนต่อไป

กว่าจะมาถึงวันนี้เห็นได้ว่าสิ่งที่คุณโอ๊คยึดมั่นและยึดถือมาตลอดคือความศรัทธาในความรักและความชอบของตนเองสู่การเติมเต็มองค์ความรู้ทุกทิศทาง ไม่ว่าจะจากการอ่านหนังสือ การเดินทางไปสัมผัสชิ้นงานโดยตรง รวมถึงการเข้าหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อปรึกษาและขอความรู้ สู่ความมั่นใจในการเดินหน้าทั้งธุรกิจและงานอดิเรกที่สำคัญไม่น้อยกว่างานหลักไปพร้อมๆ กัน

“ธุรกิจของเก่าเป็นธุรกิจที่อาศัยความเชื่อใจสูงมาก เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เราต้องเริ่มต้นที่เราก่อนในการสร้างความเชื่อใจจากคู่ค้า แล้วเราจะได้ความเชื่อใจนั้นตอบกลับมาจนเป็นความผูกพันที่มากกว่าการทำธุรกิจร่วมกัน สำหรับผมการสะสมของเก่าไม่เพียงเป็นการสะสมทุนที่จับต้องได้ แต่ยังเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต ได้ทำในสิ่งที่จะสามารถตอบแทนประเทศชาติได้บ้างไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง”

เรื่อง: บุรฉัตร ศรีวิลัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว