กรธ.ชี้สถานะการอยู่ต่อตุลาการศาลรธน.เป็นอำนาจสนช.พิจารณา

06 ธ.ค. 2560 | 10:48 น.
โฆษก กรธ. เผย ที่ประชุมมีมติไม่ส่งความเห็นเพิ่มเติมกรณีการดำรงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ระบุ สถานะการอยู่ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจ สนช. พิจารณา

[caption id="attachment_239506" align="aligncenter" width="503"] นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)[/caption]

 

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ภายหลัง กรธ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้แทน กรธ. ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญวิสามัญฯ ได้ชี้แจงเหตุผลและข้อห่วงกังวลของ กรธ. ในประเด็นต่างๆ ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และในชั้นการพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2 และ 3 อย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะกรณีการดำรงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่ในการประชุม สนช.ได้มีการปรับแก้ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่ยังปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อยู่ในตำแหน่งจนมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ว่าขึ้นอยู่กับการกำหนดเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามที่ สนช. เห็นชอบไว้ ดังนั้น กรธ. จึงไม่มีความเห็นเพิ่มเติมอีก

นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีข้อกังวลเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราว ก่อนการวินิจฉัยและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ว่า กรณีดังกล่าวมีทั้งประเด็นที่อาจจะเป็นข้อสุ่มเสี่ยงและอาจเป็นข้อดี เพราะร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านจาก สนช. ได้เขียนกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและสถานการณ์ต่าง ๆ ให้รอบคอบก่อนออกวิธีการหรือมาตรการชั่วคราว ดังนั้น กรธ.จึงเห็นว่า แม้จะมีข้อห่วงกังวลเรื่องของการใช้อำนาจศาลอาจกระทบกับความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต แต่ในการพิจารณาก็ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ