กรมสุขภาพจิต ชี้เหตุ“เครียดสูง” ทำให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่สบาย 8 อาการ แนะให้รีบพบแพทย์!

06 ธ.ค. 2560 | 09:39 น.
กรมสุขภาพจิต ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท เยียวยาลดเครียดผู้ประสบภัยน้ำท่วมใต้ 9 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง ผลการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในรอบ 11 วัน พบเครียดสูง 146 คน ในจำนวนนี้ซึมเศร้า 14 คน เผยลักษณะอาการของผู้ที่มีความเครียดหรือความไม่สบายใจสูงกว่าปกติ มักจะปรากฏอาการป่วยทางกายที่พบบ่อย 8 อาการ อาทิ นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร ปวดตามกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือแจ้ง อสม.ในพื้นที่ พร้อมแนะผู้ประสบภัยใช้ 5 แนวทางฟื้นฟูจิตใจ ช่วยให้การปรับตัวดีขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลผลกระทบทางจิตใจของผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 9 จังหวัดภาคใต้ว่า ขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมกว่า 1 ล้านคน ซึ่งมากน้อยขึ้นอยู่ความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกรมสุขภาพจิต ได้เร่งจัดทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT ) จากโรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิต 4 แห่งในจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี ปฏิบัติงานร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเครือข่ายจากโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยวันละไม่ต่ำกว่า 80 ทีม เพื่อปฐมพยาบาลทางใจลดความเครียดในระยะต้น เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วที่สุด ผลดำเนินการในรอบ 11 วันมานี้ ได้ตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตผู้ประสบภัยที่เสี่ยงได้รับกระทบรุนแรงทางจิตใจ อาทิ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวผู้ที่อพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมี 976 ครัวเรือน ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เป็นต้น รวมสะสมทั้งหมด 8,047 คน พบผู้ที่มีความเครียดสูง 146 คน ในจำนวนนี้ มีอาการซึมเศร้า 14 คน อยู่ในจ.นราธิวาส 12 คน และปัตตานี 2 คน อยู่ในความดูแลของอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

วิทยุพลังงาน “โดยมากผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่มีความเครียดหรือความไม่สบายใจสูงกว่าปกติ มักจะปรากฎอาการออกมาในรูปของอาการทางกาย โดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองเครียด ที่พบบ่อยมี 8 อาการได้แก่ 1.ปวดศีรษะ 2. ปวดท้อง 3.ปวดตามกล้ามเนื้อ 4. หัวใจเต้นเร็ว 5. แน่นหน้าอก 6. ไม่อยากรับประทานอาหาร 7. นอนไม่หลับ และ8. มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่นท้องเสีย ท้องอืด อาการที่มาจากปัญหาทางจิตใจนี้เมื่อตรวจแล้วมักจะไม่พบความผิดปกติของร่างกายและไม่สามารถอธิบายอาการที่เกิดขึ้นได้ หากผู้ประสบภัยมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพบแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือแจ้งอสม.หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลและตรวจประเมินระดับความเครียด หากได้รับการดูแลตั้งแต่เรื่มต้นได้อย่างทันท่วงที อาการจะดีขึ้น ไม่เกิดปัญหารุนแรงตามมาโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ด้านแพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติ ที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ขอแนะนำให้ผู้ประสบภัย ตั้งสติ ตั้งหลัก และให้ยึดแนวทางฟื้นฟูสุขภาพจิตใจตัวเอง 5 ประการ ซึ่งจะช่วยให้สมารถปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ 1. ยอมรับและทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกจำนวนมาก และให้ยึดคติ “ท้อแท้ได้ แต่อย่านาน และต้องลุกขึ้นเดินต่อ” 2.มองปัญหาที่เกิดขึ้นและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เช่น ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ การกิน การนอน เรื่องการขับถ่าย การป้องกันโรคและสัตว์มีพิษ เป็นต้น โดยให้เน้นสร้างความปลอดภัยในชีวิตเป็นอันดับแรก เรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงไป 3. พยายามใช้ชีวิตเรียบง่าย ปรับวิธีคิดและปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินสิ่งของนอกกาย เพื่อคลายความรู้สึกเครียดลง บางคนห่วงทรัพย์สินจนไม่ยอมอพยพ 4.ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรอดนอน เพราะยิ่งอดนอนมากเท่าใด ปัญหาความเครียดจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และ5.เอาใจใส่ดูแลกันและกัน คนที่แข็งแรงกว่าต้องช่วยคนที่อ่อนแอ ต้องคอยให้กำลังใจกับคนที่รู้สึกหมดแรง ท้อแท้ ได้ระบายความรู้สึก และให้กำลังใจกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ขอให้ผู้ประสบภัยทุกคนมีความหวัง ให้เวลาเยียวยาจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องดีขึ้นแน่นอน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว